คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องหลายข้อหาในคดีที่มีข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลย เมื่อจำเลยฎีกาในข้อหาที่ไม่ต้องห้ามฎีกาหากศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนร้าย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาที่ต้องห้ามฎีกาได้ด้วย เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายมาว่าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลแนบท้ายฟ้องทั้งผู้เสียหายก็มิได้เบิกความว่าได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ดังนี้จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรีจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษโดยเพียงแต่ระบุมาตรา มิได้ระบุวรรคให้ชัดเจนนั้น แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาแต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 340 ตรี, 371, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี,83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 และเฉพาะจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ ฐานชิงทรัพย์ จำคุกคนละ 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ 1 ปีฐานพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 จำคุกอีก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี 6 เดือน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก มาตรา 72 ทวิ วรรคสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อได้พิเคราะห์พยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 แล้ว คดีมีเหตุตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นคนร้ายร่วมกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และให้มีผลถึงข้อหาฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอนึ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาว่า การชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ไม่มีรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลแนบท้ายฟ้อง ทั้งผู้เสียหายก็มิได้เบิกความว่าได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรีและข้อหาฐานมีอาวุธปืนของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นก็เพียงแต่ระบุมาตรามาเท่านั้น มิได้ระบุวรรคมาให้ชัดเจน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องและชัดเจน

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุกข้อหา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share