แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์มีสาระสำคัญว่าพ.และส. มีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอมีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ ส่วนบันทึกปากคำผู้เอาประกันก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมานี้มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ลงโทษตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 91 ที่แก้ไขแล้ว เรียงกระทงลงโทษสามกระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก15 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 264 รวมสามกระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 ปี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ เอกสารที่จำเลยที่ 1 ปลอมและนำไปใช้ซึ่งโจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าเป็นเอกสารสิทธินั้น ได้แก่คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 และ จ.6 มีสาระสำคัญว่า นายพะยอม รักเขตต์ และนายสมพร สรเกตุ มีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอ มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ และบันทึกปากคำผู้เอาประกันตามเอกสารหมาย จ.3, จ.4 และ จ.7 ก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมานี้มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน