คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินของจำเลยเพื่อบังคับคดี ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดิน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสีย ให้ยกคำร้อง ต่อมาผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวอีกโดยอ้างเหตุเดิม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องที่ 1 วางหลักทรัพย์ประกันความเสียหาย ผู้ร้องที่ 1 ก็ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2520 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2527 โดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบ เช่นนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องครั้งแรกของผู้ร้องที่ 1 โดยผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวถึงที่สุดผู้ร้องที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 (2) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้แล้วจึงไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ทราบ
ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์นั้นแล้ว ผู้ร้องที่ 2 จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอบังคับจำนองตามสัญญาจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน ๖๒๖,๖๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ ตำบลทะเลชุบศร (ถนนใหญ่) อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๓๙ ตารางวา
ผู้ร้องที่ ๑ ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ ๑ ซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ จากนางสงวน เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน และผู้ร้องที่ ๑ รับมอบครอบครองปลูกบ้านมา ๒ ปีเศษ ผู้ร้องที่ ๑ ได้ขอให้ศาลงดการขายทอดตลาดไว้แล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์คดีอื่นเข้าสวมสิทธิเป็นผู้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ ไปเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๗ นายสว่าง เป็นผู้ซื้อ โดยศาลมิได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ ๑ ทราบเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาด ทำให้ผู้ร้องที่ ๑ เสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ และขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ผู้ร้องที่ ๒ ยื่นคำร้องว่า ที่ดินส่วนหนึ่งที่โจทก์นำยึดเนื้อที่ ๒ ไร่ ๒ งาน เป็นของผู้ร้องที่ ๒ ซื้อมาจากนายสุขและนางสงวน ผู้ร้องที่ ๒ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของโดยชอบด้วยกฎหมายตลอดมาจนบัดนี้เกิน ๑๐ ปีแล้วโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ขอให้ปล่อยที่ดินของผู้ร้องที่ ๒
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา เกี่ยวกับคำรัองขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองต่อไป
นายสว่างผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ จากการขายทอดตลาดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อศาลชั้นต้นยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดแล้ว วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ ผู้ร้องที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๘๐๗ แบ่งแยกมาจากโฉนดเลขที่ ๑๕๘๖๕ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรี ขอเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงนี้เพราะเป็นการออกโฉนดโดยไม่สุจริต ผู้ร้องที่ ๑ ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม จึงขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องที่ ๑ ไม่มีส่วนได้เสีย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๑ ต่อมา วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๐ ผู้ร้องที่ ๑ ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องที่ ๑ ซื้อที่ดินจากนางสงวน ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษาว่าการออกโฉนดของที่ดินแปลงนี้เป็นไปโดยไม่สุจริต ผู้ร้องที่ ๑ จึงมีส่วนได้เสีย ขอให้ลดการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องที่ ๑ วางหลักทรัพย์ประกันความเสียหายจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ครั้นวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๐ ผู้ร้องที่ ๑ ก็ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ในคดีอื่นเข้าสวมสิทธิยึดที่ดินพิพาทนี้ต่อจากโจทก์คดีนี้ แล้วอนุญาตให้ประกาศขายทอดตลาด และได้มีการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์และปิดประกาศที่ศาลชั้นต้น ที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ที่ทำการอำเภอเมืองลพบุรีและปิดที่ชุมนุมชนและเลื่อนการขายทอดตลาดมาหลายครั้ง ในที่สุดศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายแก่นายสว่าง ผู้ฎีกาเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๗ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องที่ ๑ ได้ทราบการขายทอดตลาดหรือไม่ ส่วนผู้ร้องที่ ๒ ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
เห็นว่า ผู้ร้องที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ผู้ร้องที่ ๑ มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๑ ถึงที่สุดแล้วผู้ร้องที่ ๑ จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๐ (๒) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้แล้วจึงไม่ต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่ ๑ ทราบ การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจึงเป็นการขายที่ชอบแล้ว ส่วนผู้ร้องที่ ๒ ยื่นคำร้องเมื่อได้มีการขายทอดตลาดที่ดินที่อ้างว่าเป็นของผู้ร้องที่ ๒ เสียแล้ว ผู้ร้องที่ ๒ จึงหมดสิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยที่ดินที่ยึดไว้ได้
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง.

Share