คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียนชม.01850 และอ้างว่าได้ขายให้ ส. บุตรเขยจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีหลักฐานการซื้อขาย คงฟังว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวชนกับรถเก๋งคันหมายเลขทะเบียน ก.3339สงขลา ของโจทก์สำนวนที่ 5 ในรถยนต์โดยสารมีประกาศคำเตือนของบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ให้ผู้โดยสารซึ่งไม่ได้เสียค่าระวางสิ่งที่นำมาต้องระวังรักษาของนั้นเองโดยทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบถ้า สูญหาย นอกจากนี้มีเศษตั๋ว โดยสารซึ่งเป็นตั๋ว ของบริษัทจำเลยที่ 3 ตก ในรถโดยสารดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถเข้าวิ่งร่วมในเส้นทางของบริษัทจำเลยที่ 3 แม้ยังไม่มีหลักฐานแสดงการเข้าร่วมก็ตาม จึงถือได้ว่าคนขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้น คดีสำนวนแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 คดีสำนวนที่สาม เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 เข้าวิ่งร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3 โดยได้รับค่าตอบแทนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2524 เวลา10.30 น. คนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 ที่ 2 คันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 ชนกับรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน ก. 3339 สงขลา ของนายยืนยง หอพัฒนาวุฒิวงศ์ โจทก์ สำนวนที่ 5 โดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งพังเสียหายและผู้ที่นั่งมาในรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวคือ นายเจียร ชูเรืองสุขถึงแก่ความตายทันที นางอัมพร สมชีพ โจทก์สำนวนแรก และนางสาวปรีดาหุ้ยส่อง โจทก์สำนวนที่สาม ได้รับบาดเจ็บสาหัส นางอัมพร ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 18,975 บาท นางสาวปรีดา ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 39,500 บาท การที่นายเจียรถึงแก่ความตายทำให้นางเชือนชูเรืองสุข โจทก์สำนวนที่สอง ขาดไร้อุปการะคิดเป็นเงิน 84,000 บาทค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนายเจียรเป็นเงิน 35,000 บาทค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูสำหรับเด็กชายวรศักดิ์ ชูเรืองสุขเด็กชายประจักษ์ ชูเรืองสุข บุตรนายเจียรรวมคิดเป็นเงิน 305,000 บาทรถยนต์เก็งของนายยืนยง โจทก์สำนวนที่ 5 เสียหายคิดเป็นเงิน 687,042บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 18,975 บาท แก่นางอัมพร ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน84,000 บาท แก่นางเชือน ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 39,500 บาทแก่นางสาวปรีดา ชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 305,000 บาท แก่นางดวงเด็กชายวรศักดิ์ และเด็กชายประจักษ์ และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน687,042 บาท แก่นายยืนยงโจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามทุกสำนวนให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสามไม่ใช่เจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียนชม. 01850 คนขับไม่ใช่ลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสามโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 8,475บาท แก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 84,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน16,520 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ชำระเงิน 297,770 บาท แก่โจทก์ที่ 4ทั้งสามคน และชำระเงิน 88,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีตามสำนวนคดีแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 และโจทก์นำสืบไม่สมตามคำฟ้องว่า คนขับรถคันดังกล่าวเป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้จึงเป็นการมิชอบ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่อาจจะฎีกาได้อีกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และคดีตามสำนวนคดีที่ 3 เป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จำเลยที่ 1 ที่ 3ฎีกายกเหตุผลทำนองเดียวกับที่กล่าวในอุทธรณ์ข้างต้นอีก เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในสำนวนอื่นนอกจากสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่ 3 ว่าการที่คนขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน ก. 3339 สงขลา จำเลยที่ 1ที่ 3 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียนชม. 01850 ซึ่งนำไปวิ่งร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 3นำสืบว่า เดิมรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 เป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้ขายรถยนต์คันนี้ให้นายสุรเชษฐ บุตรเขยไป นายสุรเชษฐเคยให้จำเลยที่ 1 ไปติดต่อกับบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อนำรถเข้าไปวิ่งร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำรถเข้าไปวิ่งร่วมได้ เนื่องจากต้องโอนทะเบียนบ้านรถของจังหวัดเชียงราย และพ่นตราบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ข้างรถเสียก่อน
พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 นำสืบแล้วพยานโจทก์คือร้อยตำรวจเอกบังคม ศีติสาร ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน เบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่ารถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 เป็นของจำเลยที่ 1จึงได้สอบถามไปยังบริษัทจำเลยที่ 3 ซึ่งก็ได้ความว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 มาขอเข้าร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 3 แต่ยังไม่ได้นำหลักฐานมาเข้าร่วม จากการสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมรถยนต์คันนี้เป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาได้ขายให้นายสุรเชษฐ์ บุตรเขยไปซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 นำสืบรับในข้อเหล่านี้ รูปคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. 01850 เป็นของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ว่า ได้ขายให้นายสุรเชษฐ บุตรเขยไปนั้นเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการซื้อขาย ส่วนการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทจำเลยที่ 3 นั้นได้ความ่ว่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวได้เข้าไปวิ่งในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น ทั้งภายในรถยนต์โดยสารก็มีประกาศคำเตือนของบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ให้ผู้โดยสารซึ่งไม่ได้เสียค่าระวางสิ่งที่นำมาต้องระวังรักษาของนั้นเอง โดยทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบถ้าสูญหาย และได้ความจากนายพลวัน เดชประมวลพล พยานโจทก์ซึ่งเป็นทนายความของโจทก์และร้อยตำรวจโทโกวิท โรจน์แสงรัตน์พยานโจทก์ ซึ่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายว่า หลังเกิดเหตุแล้วนายพลวันได้ไปขอตรวจค้นรถยนต์โดยสารคันนี้ ซึ่งถูกยึดไว้เป็นของกลาง จากการตรวจค้นพบเศษตั๋วโดยสาร ซึ่งเป็นตั๋วของบริษัทจำเลยที่ 3 ในรถ แสดงให้เห็นว่ามีการตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถเข้าไปวิ่งร่วมในเส้นทางของจำเลยที่ 3 แล้ว จึงถือได้ว่าคนขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เมื่อลูกจ้างดังกล่าวทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 รับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ สำนวนที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับสำนวนคดีแรกให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 3 สำหรับสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่ 3 เสีย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดสำหรับคดีสองสำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ที่ 3สำนวนคดีที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 พิพากษายืน.

Share