คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ตรวจสอบพบว่าพฤติการณ์ของโจทก์มีพิรุธเกี่ยวกับเรื่องการได้สัญชาติไทย จึงได้ยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนและหาหลักฐานต่อไปนั้น ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และตราบใดที่การสอบสวนในเรื่องดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นจำเลยก็ยังหาจำต้องคืนบัตรประจำตัวประชาชนที่ยึดไว้ให้แก่โจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบกล่าวหาว่าโจทก์เป็นญวนอพยพ และสงสัยว่าจะหนีจากเขตควบคุม จึงยึดเอาบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของโจทก์ไป ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนบัตรประจำตัวประชาชนที่ยึดไปให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นข้าราชการของจำเลยที่ ๑ เมื่อระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์ไปขอบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุตรสาว จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ตรวจสอบเอกสารซึ่งโจทก์แสดงประกอบเอกสารของทางราชการ ตลอดจนท่าทางกิริยาอาการพบว่าโจทก์มิใช่คนไทยจึงขอบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้เพื่อตรวจสอบ ซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีอำนาจสอบสวนถึงสัญชาติแท้จริง และยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์เพื่อส่งไปตรวจสอบยังส่วนราชการอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แต่การที่จำลยยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้นานถึง ๑ ปีเศษเป็นการเกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แก่การสอบสวน จึงให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนบัตรประจำตัวประชาชนพิพาทแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าเขตรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตยานนาวา มีอำนาจและหน้าที่ในฐานะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ แม้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะไม่มีบทบัญญัติให้จำเลยยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับบัตรไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีบทกำหนดโทษแก่ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ยื่นคำขอรับบัตรโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนมีสัญชาติไทย หรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิที่จะใช้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าพฤติการณ์ของโจทก์มีพิรุธเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ เช่น โจทก์เกิดที่จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา บิดาเป็นคนจีน มารดาเป็นคนกัมพูชา ฯลฯ จำเลยที่ ๓ ในฐานะ “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” จึงมีอำนาจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้เพื่อทำการสอบสวนว่าโจทก์มีสัญชาติไทยหรือไม่ และได้รับบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และเมื่อจำเลยมีอำนาจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้เพื่อทำการสอบสวนแล้วตราบใดที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่ทราบผลการสอบสวนจำเลยย่อมมีอำนาจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนบัตรประจำตัวประชาชนแก่โจทก์ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share