คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างประสบปัญหาขาดทุนจนต้องลดการผลิตแต่ยังไม่ถึงกับยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไปยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง อนุกรรมการ และกรรมการสหภาพแรงงานได้

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทำการค้าประกอบรถยนต์ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์ผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างของผู้ร้อง นับแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมาปริมาณการผลิตรถยนต์ของผู้ร้องลดลงเป็นจำนวนมาก เฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2524 ผู้ร้องขาดทุนถึง 5,800,000 บาท คณะกรรมการของผู้ร้องจึงลงมติให้ลดจำนวนคนงานตามคำเสนอแนะของบริษัทวอลโว่สวีเดนซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยยึดถือหลักว่า “ผู้เข้ามาที่หลังต้องออกก่อน” เป็นแผนก ๆ ไปรวมทั้งหมด 16 คน แต่เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสามเป็นกรรมการในคณะกรรมการลูกจ้างและเป็นบุคคลที่เข้าหลักว่า “ผู้มาทีหลังต้องออกก่อน” ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสาม โดยผู้ร้องจะจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายแรงงานและตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นอนุกรรมการของสหภาพแรงงานกิจการรถแห่งประเทศไทยและกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงานกิจการรถแห่งประเทศไทย การเลิกจ้างของผู้ร้องเป็นการกลั่นแกล้ง ทั้งนี้เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสามได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อผู้ร้องจนตกลงกันได้และมีผลใช้บังคับ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2524 เป็นต้นไป ที่ผู้ร้องว่าต้องยุบหน่วยงานนั้น ความจริงผู้ร้องกำลังขยายงาน หน่วยงานเดิมและตำแหน่งเดิมยังไม่เลิก และที่ว่าลดการผลิตนั้น ความจริงผู้ร้องตั้งเป้าหมายการผลิตไว้สูง แต่ผลิตจริงไม่ถึงจึงดูเสมือนลดการผลิต ทั้งคนงานที่เข้าทำงานทีหลังไม่ต้องออกก็มี ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสามได้ตามหลักกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงานกิจการรถแห่งประเทศไทย ซึ่งมีส่วนร่วมยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างจนตกลงกันได้และข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่พิพากษายกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 เป็นบทบัญญัติอยู่ในหมวด 9 การกระทำอันไม่เป็นธรรมซึ่งมุ่งมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการอนุกรรมการ สมาชิกสหภาพแรงงาน กรรมการ อนุกรรมการ สหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับอยู่ แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่คำนึงถึงฐานะและสภาพทางเศรษฐกิจหรือความอยู่รอดของนายจ้าง ดังเช่นในกรณีนายจ้างต้องประสบกับการขาดทุนจนต้องยุบหน่วยงาน หรือต้องเลิกกิจการแล้วจะให้นายจ้างจ้างลูกจ้างอยู่ตลอดไปจนนายจ้างประสบความหายนะหรือล้มละลายย่อมเป็นไปไม่ได้ กรณีที่มีเหตุเพียงพอและเป็นการสมควรและมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งอันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าวแล้วนายจ้างย่อมกระทำได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1612-1636/2523 ระหว่างนายสุพล อังสุธร กับพวกโจทก์ บริษัทแพน อเมริกัน เวอร์ลด์ แอร์เวยส์ อิงค์ จำเลย สำหรับคดีนี้หากผู้ร้องจะต้องประสบปัญหาขาดทุนจนต้องลดการผลิตลงจริงแต่ก็ไม่ถึงกับยุบหน่วยงานเสียทั้งหน่วยหรือเลิกกิจการไป การที่ผู้ร้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเลิกจ้างลูกจ้างบางคนในหน่วยงาน โดยถือหลักเพียงว่า “ผู้มาทีหลังต้องออกก่อน” มาใช้กับผู้คัดค้านทั้งสามนั้นยังไม่มีเหตุอันเพียงพอและสมควร

พิพากษายืน

Share