คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 347/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เมื่ออ่านประกอบหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่โจทก์ส่งประกอบมาท้ายฟ้อง มีใจความว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ เนื่องจากจำเลยที่1 ได้อนุมัติให้ อ. เบิกเงินเกินบัญชี ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยโจทก์งดคิดดอกเบี้ยในยอดเงินตาม หนังสือรับสภาพหนี้ แต่ถ้าครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ค้างชำระ โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือรับสภาพหนี้ทุกประการดังนี้ฟ้องโจทก์ย่อมแสดงชัดแจ้งแห่งข้อหาแล้วว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยที่1 อนุมัติให้ อ. เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นการเกินอำนาจของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
เมื่อปรากฏว่าฟ้องโจทก์มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 รับผิดใน เหตุละเมิด และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์อนุมัติให้อ. เบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 กระทำการนอกเหนืออำนาจอย่างไรจึงไม่เป็นการนำสืบนอกประเด็น
การที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ภายในกำหนดอายุความเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 มิใช่เป็นกรณีรับสภาพความรับผิดเมื่อหนี้นั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ 5,686,334 บาท 40 สตางค์ และสัญญาว่าจะชำระหนี้นี้ให้แก่โจทก์ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ หากครบกำหนดแล้วไม่ชำระจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือรับสภาพหนี้ ล่วงเลยกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยมิได้นำเงินมาชำระให้โจทก์โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ ให้แก่โจทก์ตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม จำเลยทั้งสองไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เป็นหนี้ที่นายอุเทนซึ่งเป็นลูกค้าคนหนึ่งของโจทก์ค้างชำระต่อโจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่มีผลบังคับให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยถูกโจทก์ข่มขู่บังคับให้กระทำ จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย การรับสภาพหนี้ดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ไม่มีผลเป็นการรับสภาพหนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ได้พิเคราะห์ฟ้องและหนังสือรับสภาพหนี้ท้ายฟ้องแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องสรุปใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ 5,686,334 บาท 40 สตางค์ สัญญาว่าจะชำระหนี้จำนวนนี้ให้แก่โจทก์ภายในหนึ่งปี นับจากวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยโจทก์งดคิดดอกเบี้ยในยอดเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่ถ้าครบหนึ่งปีแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ และหรือชำระหนี้บางส่วน จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้ารับชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือรับสภาพหนี้ทุกประการ ซึ่งโจทก์ได้ส่งภาพถ่ายหนังสือรับสภาพหนี้มาด้วยท้ายฟ้อง ซึ่งมีใจความสำคัญว่า เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ยอมชำระให้โจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นการเกินอำนาจของจำเลยที่ 1 ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายคิดถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2520 เป็นจำนวนเงิน 7,186,334 บาท 40 สตางค์ ฟ้องโจทก์จึงแสดงชัดแห่งข้อหาว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินอำนาจของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้ดีอยู่แล้ว เพราะจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยทั้งสองไม่มีหนี้ค้างชำระต่อโจทก์ และยังให้การในคำให้การข้อ 5 ว่า นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร ไม่ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์ เป็นเพียงจำเลยที่ 1 ใช้การวินิจฉัยผิดพลาดไปโดยการคาดคะเนผิด การที่จำเลยที่ 1 กระทำการไป (อนุมัติให้นายอุเทนเบิกเงินเกินบัญชี) ไม่เกินกว่าอำนาจของจำเลยที่ 1แสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 1 มิได้หลงข้อต่อสู้อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดเรื่องผิดสัญญารับสภาพหนี้ โดยมิได้บรรยายให้เห็นว่าหนี้ดังกล่าวมาจากมูลหนี้เดิมคือละเมิดหรือจำเลยต้องรับผิดในฐานะตัวแทน การที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดได้แก่หนี้ที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาขอนแก่น ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารโจทก์ได้กระทำนอกอำนาจเพราะได้อนุมัติให้นายอุเทนเบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่มีหลักประกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 นอกจากจะต้องรับผิดเพราะกระทำละเมิดต่อธนาคารโจทก์แล้วยังต้องรับผิดในฐานะเป็นตัวแทนกระทำการนอกเหนืออำนาจเกิดความเสียหายแก่ตัวการ และในชั้นสืบพยานโจทก์ก็ไม่มีพยานปากใดสืบให้เห็น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่าโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินอำนาจของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์มุ่งหมายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในเหตุกระทำละเมิด และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ได้กระทำการนอกเหนืออำนาจทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 อันเป็นประเด็นในคดีโจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบว่าจำเลยที่ 1 กระทำการนอกเหนืออำนาจอย่างไรได้ ไม่ผิดกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ และได้ความตามคำเบิกความของนายรัตน์ ไวกวี พยานโจทก์ว่าระหว่างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาขอนแก่น มีนายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร มาเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ สาขาขอนแก่น เลขที่บัญชีที่ 430 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาขอนแก่น ได้อนุมัติให้นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร เบิกเงินเกินบัญชีไปถึงเจ็ดล้านหนึ่งแสนกว่าบาท ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1ตามความรับผิดของจำเลยที่ 1 โดยก่อนนั้นจำเลยทั้งสองได้มีหนังสือถึงนายศิริ วิจิตรานนท์ ในฐานะกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ยอมรับผิดร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.9 จำเลยนำสืบแต่เพียงว่า การยอมให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 และนำสืบฟังไม่ได้ว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยถูกข่มขู่บังคับ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 อนุมัติให้นายอุเทน พรหมสาขา ณ สกลนคร เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นการนอกเหนืออำนาจของตนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าร่วมชำระหนี้ด้วย หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลใช้บังคับได้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของโจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ซึ่งมีอายุความตามมาตรา 164 มีกำหนดสิบปี หากจะฟังตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า นายอุเทนเบิกเงินเกินบัญชีไปตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2520 คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการรับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 มิใช่รับสภาพความรับผิดตามมาตรา 188 เพราะมิใช่เป็นกรณีรับสภาพเมื่อหนี้นั้นขาดอายุความแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นจากคำแก้ฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดตามมาตรา 188 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ แล้วไม่ชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ

Share