คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรรมการเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของบริษัทมีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของบริษัทภายในอำนาจของตน และถือว่าเป็นการกระทำของบริษัทเอง ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทหรือบริษัทเป็นผู้สั่งการให้ทำจึงไม่ถูกจำกัดอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801
บริษัทเอกชนที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดฯ ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดตามกฎหมาย ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการจดทะเบียนแปรสภาพ และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสืบในประเด็นหรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดง เป็นต้น เมื่อไม่มีจำเลยคนใดให้การว่า ธ. เป็นบุคคลล้มละลาย แม้จำเลยบางคนจะเบิกความถึงเรื่องดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น ไม่อาจรับฟังเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โจทก์โดยนายศักดิ์รินชูศักดิ์ตระกูล และนายประเสริฐ สุมงคลธนกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์และประทับตรามอบอำนาจให้นายปริญญาวิวัฒน์วิทยา ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1ขอเครดิตสินเชื่อจากโจทก์ 2,000,000 บาท และได้รับเงินครบถ้วนแล้วโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ 1 ฉบับ สัญญาจะใช้เงิน 2,000,000บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีหากผิดนัดให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2ถึงที่ 6 ร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้วจำเลยทั้งหกเพิกเฉย ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 2,000,000บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 251,990 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,251,990 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและตราที่ประทับเป็นลายมือชื่อและตราปลอม จำเลยที่ 1 ไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้อง จำเลยที่ 2และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเพราะไม่มีเจตนาค้ำประกันหนี้ตามฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีไม่ถูกต้อง เพราะหนังสือทวงถามกำหนดดอกเบี้ยไว้เพียงอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีเท่านั้นทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดวันที่ 28 ธันวาคม 2538 โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 จึงไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ลาออกจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม 2536 กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มีมติยอมรับให้จำเลยที่ 3 ลาออกจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 และให้ผู้บริหารของจำเลยที่ 1 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเอกสารต่าง ๆ ที่ผูกพันจำเลยที่ 3 และที่จำเลยที่ 3แจ้งบอกเลิกสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องตั้งแต่ประมาณเดือนตุลาคม 2536 และโจทก์ทราบแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2537 หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกจากการเป็นกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 และหลังจากจำเลยที่ 3 แจ้งบอกเลิกสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า นายศักดิ์ริน ชูศักดิ์ตระกูล และนายประเสริฐ สุมงคลธนกุล ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจทั่วไปของโจทก์ที่จะดำเนินการใด ๆ แทนโจทก์ ผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ นายศักดิ์รินและนายประเสริฐจึงไม่มีอำนาจที่จะตั้งตัวแทนช่วงให้กระทำการแทนได้ นายปริญญา วิวัฒน์วิทยาจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ทั้งตราประทับก็มิใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพ-มหานคร จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอเครดิตสินเชื่อจากโจทก์ และไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท ตามที่ฟ้อง จำเลยที่ 5และที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์และหากจำเลยที่ 1 ขอเครดิตสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็มิได้ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอเครดิตสินเชื่อ ทั้งไม่มีมติที่ประชุมให้ขอเครดิตสินเชื่อ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด และได้แจ้งไว้ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของบริษัทหรือตัวเจ้าหนี้ก็จะต้องให้จำเลยที่ 5และที่ 6 ยินยอมเสียก่อน เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์จำกัดแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด สัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 5 และที่ 6 กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัดจึงระงับไป ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องทำขึ้นหลังจากโจทก์แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 5 และที่ 6ทราบและให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันขึ้นใหม่ จำเลยที่ 5และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิด อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอสูงกว่าที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 5 และที่ 6ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในข้อ 2.2 เรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเสียก่อน โดยจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า นายศักดิ์ริน ชูศักดิ์ตระกูล และนายประเสริฐ สุมงคลธนกุลกรรมการของโจทก์ไม่มีอำนาจพิเศษหรือได้รับมอบอำนาจทั่วไปให้มีอำนาจมอบอำนาจให้นายปริญญา วิวัฒน์วิทยาฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ นายศักดิ์รินและนายประเสริฐจึงเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปของโจทก์ ไม่มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 นายปริญญาซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายศักดิ์รินและนายประเสริฐจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่า กรรมการบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงออกซึ่งความประสงค์ของบริษัทตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 ซึ่งมีความหมายว่าผู้แทนบริษัทมีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของบริษัทภายในอำนาจของตน และถือว่าเป็นการกระทำของบริษัทเองไม่ใช่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทหรือบริษัทเป็นผู้สั่งการให้ทำอย่างกรณีตัวการมอบอำนาจหรือมีคำสั่งให้ตัวแทนกระทำการ ผู้แทนบริษัทไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทจึงไม่ถูกจำกัดอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 ซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดอำนาจของตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป เมื่อหนังสือรับรองของโจทก์เอกสารหมายจ.1 กำหนดว่า นายศักดิ์รินลงลายมือชื่อร่วมกับนายประเสริฐรวมเป็น2 คน และประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้โดยไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการ ดังนั้น เมื่อโจทก์โดยนายศักดิ์รินและนายประเสริฐลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมอบอำนาจให้นายปริญญาฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว นายปริญญา จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 5และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6ข้อ 2.1 และ 2.3 ที่ฎีกาสรุปได้ว่า โจทก์มิได้นำสืบว่า โจทก์แปรสภาพมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด และโจทก์จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิความรับผิดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 แต่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้รับแจ้งถึงการโอนสิทธิเรียกร้องและไม่ได้ยินยอมด้วยในการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามฟ้องนั้นเห็นว่า นายปริญญาผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัดโดยอ้างส่งหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารหมายจ.1 ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำขึ้นและรับรองว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดโดยมีหมายเหตุว่า เดิมโจทก์ชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์จำกัด ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ดังนั้น โจทก์ซึ่งเดิมเป็นบริษัทเอกชนที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมด ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 185 เป็นการแปรสภาพโดยได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดตามกฎหมายกรณีไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์จึงไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ทราบถึงการจดทะเบียนแปรสภาพ และไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อ 3ตอนท้ายกับข้อ 4 และฎีกาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ข้อ 2.4 ที่ฎีกาว่านายชนะ แซ่อึ้ง กรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องกับกรรมการอื่นอีก 2 คน ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่ปี 2530 แต่นายชนะได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลหลายครั้งนายชนะจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย และการที่กรรมการบริษัทเป็นบุคคลล้มละลาย กรรมการคนนั้นเป็นอันขาดจากตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1154เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น เห็นว่าแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) บัญญัติว่า”ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้” แต่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องนำสืบในประเด็นหรือได้จากเอกสารพยานที่มีกฎหมายบังคับให้คู่ความที่กล่าวอ้างต้องแสดง เป็นต้น คดีนี้ไม่มีจำเลยคนใดให้การต่อสู้คดีว่านายชนะเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 3 เสร็จแล้วจำเลยที่ 5 และที่ 6 ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและขอส่งสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของนายชนะกับรายงานการตรวจสอบบุคคลที่เคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยอ้างว่าเพิ่งทราบว่านายชนะเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่เข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88จึงให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 5 และที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในประเด็นที่ว่านายชนะเป็นบุคคลล้มละลาย แม้จำเลยที่ 5 จะเบิกความไว้ว่านายชนะเป็นบุคคลล้มละลายก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็น จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 กล่าวอ้างมาในฎีกาเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ได้ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งหกชำระดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2537 เป็นการเกินไปกว่าคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งหกมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำเลยทั้งหกชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share