แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการซื้อเมทแอมเฟตามีน อ.ตกลงกับจำเลยที่ 2 โดยนำแหวนเงินไปแลกเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตีราคาแลกเปลี่ยนแหวนเป็นเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด และหยิบเมทแอมเฟตามีนซึ่งวางอยู่บนหน้าตักของจำเลยที่ 2 ให้แก่ อ. ในขณะที่ อ. เจรจาแลกแหวนกับเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เดินออกไปนอกบ้าน ไม่ได้อยู่ด้วย การตีราคาแหวนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงลำพัง น่าเชื่อว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ใช้บ้านเป็นสถานที่ติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องในข้อหานี้ ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วขอแก้ไขคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ยังคงให้การปฏิเสธในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่ถูก มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่) (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี รวมจำคุก 7 ปี 6 เดือน และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจหลายนายของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางไปยังบ้านของจำเลยที่ 1 เลขที่ 138 อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พบนางอุทัยอยู่ห่างจากบ้านของจำเลยที่ 1 ประมาณ 20 เมตร จึงเข้าไปตรวจค้นตัวนางอุทัย พบเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงเข้าไปตรวจค้นภายในบ้านซึ่งมีจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องนอน พบเมทแอม-เฟตามีน 80 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มบนเตียงนอนของจำเลยที่ 1 ทั้งยังพบธนบัตรฉบับต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,740 บาท ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ส่วนชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันเสพยาเสพติดให้โทษและจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ส่วนข้อหาอื่นยังคงให้การปฏิเสธ
มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริงตามฟ้อง แต่โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจริง คงมีแต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมกันจับกุมเบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ในการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่ก็มิได้ล่อซื้อให้ปรากฏข้อเท็จจริง กลับอ้างว่าเคยล่อซื้อหลายครั้งแต่ไม่สามารถดำเนินคดีจำเลยทั้งสองได้ เนื่องจากใช้เด็กนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ เช่นกัน ที่โจทก์นำสืบว่า จับนางอุทัยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด นางอุทัยแจ้งว่าซื้อมาจากจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์มิได้ตัวนางอุทัยมาเบิกความเป็นพยาน คงมีแต่คำให้การชั้นสอบสวนอ้างส่งเป็นพยาน จากคำให้การดังกล่าวกลับปรากฏว่า ในการซื้อเมทแอมเฟตามีน นางอุทัยตกลงกับจำเลยที่ 2 โดยนางอุทัยนำแหวนเงินที่หัวเป็นนิลไปแลกเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตีราคาแลกเปลี่ยนแหวนเป็นเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด และหยิบเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางอุทัย ซึ่งเมทแอมเฟตามีนวางอยู่บนหน้าตักของจำเลยที่ 2 ในขณะที่นางอุทัยเจรจาแลกแหวนกับเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ด้วย เดินออกไปนอกบ้าน นางอุทัยให้การในวันเกิดเหตุมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องเป็นญาติกับจำเลยทั้งสอง คำให้การจึงน่าเชื่อถือ หากจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนจริง ก็น่าจะร่วมจำหน่ายกับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำหน่ายที่นำแหวนมาตีราคา การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ตัดสินใจตีราคาแต่เพียงลำพัง จึงน่าเชื่อว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ใช้บ้านเป็นสถานที่ติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องในข้อหานี้ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะเป็นบทที่มีโทษเบากว่า
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 4 ปี รวมโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วเป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4