คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษากำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายโดยใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวต่อ ศาลฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก อ้างว่าเมื่อจำเลยแพ้คดีตามคำท้าจำเลยต้องชำระค่าเสียหายเต็มตามคำฟ้อง ดังนี้ ข้ออุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยให้ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๑๑,๙๙๙ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้อง (๑๘ มกราคม ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว ที่โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยใช้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์โดยคำนึงถึงระยะเวลาการทำงานของโจทก์ประกอบมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่อ้างว่าในการกำหนด ค่าเสียหายศาลแรงงานกลางจะต้องคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบในการพิจารณา จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ล้วนแต่เป็นการยกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นแสดงเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมในการกำหนดค่าเสียหายนั่นเอง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการกำหนดค่า เสียหาย ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์และจำเลยแถลงท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเพียงประเด็นเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ หากโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ก็จะไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยต้องแพ้ตามคำท้า จำเลยก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วว่าคดีนี้คู่ความตกลงท้ากันว่าหากจำเลยแพ้คดีตามคำท้า ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ หมายความว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อใด ค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวนเท่าใด กำหนดการชำระค่าจ้างเมื่อใด จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่านั้น ส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะมีมากน้อยเพียงใด ศาลแรงงานกลางจะต้องใช้ดุลพินิจกำหนดให้โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ดังนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เช่นกัน
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลย.

Share