แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความถือเอาคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณาแล้วให้ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุฎีกาได้ และคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกปัญหานั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ก่อนเบิกความโจทก์เป็นฝ่ายเสนอโดยแถลงว่าจะขอถือคำให้การพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำให้การของพยานในชั้นพิจารณาเพราะทนายโจทก์จะถามพยานเช่นเดียวกับในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยทั้งสามยอมรับ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความปฏิบัติตามที่ตกลงกัน โดยทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านและทนายโจทก์ถามติงแล้วต่างฝ่ายต่างสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานปากนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพียงแต่โจทก์ขอให้ถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ก็เป็นวิธีการของโจทก์เองที่เลือกเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยวิธีนี้ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทักท้วงเสนอแนะว่าพยานหลักฐานเช่นนี้ใช้ลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 350, 91
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความถือเอาคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2543 เป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณา แล้วให้ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านในวันที่ 19 มีนาคม 2545 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคหนึ่ง เห็นว่า ข้อที่ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกเป็นเหตุฎีกาได้ แต่คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกานั้นได้ความว่า เมื่อศาลชั้นต้นจดบันทึกว่า “ก่อนเบิกความโจทก์เป็นฝ่ายเสนอโดยแถลงว่า จะขอถือคำให้การพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องลงวันที่ 24 มกราคม 2543 เป็นคำให้การของพยานในชั้นพิจารณา เพราะทนายโจทก์จะถามพยานเช่นเดียวกันกับที่พยานได้ให้การไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับ ศาลอนุญาต” ต่อมาคู่ความปฏิบัติตามที่ตกลงกันดังกล่าวโดยทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านและทนายโจทก์ถามติงเพิ่มเติม แล้วต่างสืบพยานฝ่ายของตนเรื่อยมาจนเสร็จสิ้น โดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เพียงแต่โจทก์ขอให้ถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ก็เป็นวิธีการของโจทก์เอง ที่เลือกเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยวิธีนี้ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทักท้วงเสนอแนะว่าพยานหลักฐานเช่นนี้ใช้ลงโทษจำเลยได้หรือไม่ได้ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์