คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การที่โจทก์ ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้อง ด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็น โมฆะด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2532 จำเลยขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้โจทก์ 1 แปลง ในราคา 150,000 บาท โดยจำเลยยืนยันว่าจะดำเนินการให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบ แต่จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2537 จำเลยได้ทำหนังสือตกลงที่จะคืนเงินให้แก่โจทก์ โดยทำหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน 150,000 บาท ให้โจทก์ไว้ ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระคืนโจทก์ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยมิได้ชำระเงินคืนตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 150,000 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 172,872 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เช่าที่ดินพิพาทของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมีกำหนดตลอดอายุของจำเลย เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ประมาณ 5 ปี แต่ไม่ได้ผล โจทก์ขอให้จำเลยคืนค่าเช่าครึ่งหนึ่งจำเลยไม่ยินยอม โจทก์จึงนำหนังสือสัญญากู้เงินปลอมมาฟ้องจำเลย โดยจำเลยไม่มีหนี้กับโจทก์ และหากโจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่ซื้อที่ดินก็ถือเป็นลาภมิควรได้ แต่มิได้ฟ้องร้องเอาคืนภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 แปลงหนี้มาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าว หนังสือสัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 ใช้บังคับได้หรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวว่าเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 150,000 บาท ที่จำเลยรับจากโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเป็นโมฆะนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 วรรคสอง แต่จำเลยไม่มีเงินชำระคืนให้แก่โจทก์ทันทีจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ไว้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ฐานลาภมิควรได้มาเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายจำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แล้วการที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ซึ่งตามมาตรา 411 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่” โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน

Share