แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านทั้งสองก่อสร้างฝายน้ำล้นกั้นลำห้วยสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งได้ใช้ฝายน้ำล้นและแท็งก์น้ำในกิจการรีสอร์ทตลอดมา การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการใช้ ยึดถือ และครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 3 (15) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งให้เงินฝากและห้องชุดพักอาศัยมูลค่าประมาณ 16,751,505.42 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สิน 17 รายการ แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรายการที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 14 ถึงที่ 17 พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คืนทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 12 และที่ 13 แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 12 และที่ 13 พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า หลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามขอความร่วมมือส่งเจ้าหน้าที่ร่วมสอบสวนคดีฟอกเงินของกลุ่มผู้กระทำความผิดมูลฐานรายพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ กับพวก กรณีมีพฤติกรรมกระทำความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ การพนัน และความผิดข้อหาฟอกเงิน ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รับรายงานจากกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดข้อหาร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 ร่วมกันปลูกฝายล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเนื่องมาจากการตรวจสอบพบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ซึ่งสวนผึ้งรีสอร์ทใช้ประโยชน์เกินพื้นที่ราชพัสดุที่เช่า 10 ไร่ เป็นบ้านพักหิน 2 หลัง บ้านพักไม้ 2 หลัง โรงสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ และฝายน้ำล้นลักษณะเป็นคอนกรีตยาวประมาณ 50 เมตร กั้นลำห้วย 1 ฝาย ผู้คัดค้านทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลอาญาพิพากษาว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (3), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118, 118 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.653/2558 คณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็นว่า การก่อสร้างฝายบนพื้นที่บุกรุกและดึงน้ำเข้าไปใช้ในกิจการสวนผึ้งรีสอร์ท เป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันมีลักษณะเป็นการค้า การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินรวม 17 รายการ ของผู้คัดค้านทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองมีว่า ทรัพย์สินทั้ง 17 รายการ พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันจะพึงมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านทั้งสองถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อ.653/2558 ของศาลอาญา ในชั้นพิจารณาผู้คัดค้านทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลอาญาพิพากษาว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (3), 108 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117, 118, 118 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกและปรับ นับโทษผู้คัดค้านที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ให้ผู้คัดค้านทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างฝายกั้นน้ำ ซึ่งคดีเป็นที่สุดแล้ว ประกอบกับแม้ผู้คัดค้านทั้งสองสร้างบ้านและแท็งก์น้ำไว้ก่อนจะมีการกันพื้นที่ส่วนนั้นออกไปเป็นเขตลุ่มน้ำชั้น 2 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความรับว่าหลังจากกันพื้นที่ออกไปก็ยังใช้น้ำจากแท็งก์น้ำในกิจการของสวนผึ้งรีสอร์ทอยู่ และปรากฏว่าฝายน้ำล้นที่ผู้คัดค้านทั้งสองก่อสร้างขึ้นก็ไม่ได้สร้างอยู่ในพื้นที่เช่าเดิมหรือพื้นที่เช่าใหม่แต่อย่างใด แต่สร้างกั้นลำห้วยสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับความเสียหาย และเมื่อการสร้างฝายน้ำล้นล่วงล้ำเข้าไปในลำห้วยดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการสร้างฝายน้ำล้นนั้นก่อสร้างได้โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แต่อย่างใด ทั้งปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้ใช้ฝายน้ำล้นและแท็งก์น้ำในกิจการของสวนผึ้งรีสอร์ทตลอดมา จึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่กล่าวอ้าง ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น การกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองดังกล่าวเป็นการใช้ ยึดถือ และครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองรวม 17 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 51 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวนั้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ