คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดและถอนอุทธรณ์จำเลยที่ 7ไม่ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเจ็ดต่อไป ดังนี้แม้ข้อหาที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่ย่อมถือได้ว่า โจทก์มีเจตนาที่จะถอนฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 คงอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 7 แล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น คำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 158, 162, 177, 179, 180, 161, 200, 310, 83, 86, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดฐานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1)และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองด้วย ลงโทษจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) จำคุกคนละ 2 ปีลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสองจำคุกคนละ 2 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 ปีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จำคุกคนละ 2 ปี ข้อหานอกจากนี้ให้ยกจำเลยที่ 7 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดและถอนอุทธรณ์จำเลยที่ 7 ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง คงอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 7
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310 ให้ลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นกฎหมายบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี ให้ยกฟ้องข้อหาทำเอกสารโดยรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ฎีกาข้อแรกว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2533 อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์ได้เฉพาะจำเลยที่ 7 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 เป็นคำสั่งและคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้อง เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1) และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคสอง ด้วย ข้อหาอื่นให้ยก ส่วนจำเลยที่ 7 ให้ยกฟ้องโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ต่างอุทธรณ์โดยโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2533 ใจความว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้ตกลงกับโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วโจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดและถอนอุทธรณ์จำเลยที่ 7 ด้วยไม่ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเจ็ดต่อไป ดังนี้ แม้ข้อหาที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอถอนฟ้องในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถอนฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง คงอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 7แล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 310 ตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น คำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ อนึ่ง เมื่อปรากฏว่าคดีได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ได้และกรณีนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งคำร้องของโจทก์และวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งและวินิจฉัยอีกแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 มีความผิดฐานเบิกความเท็จ แต่ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2533 ว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้ตกลงกับโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเจ็ดต่อไป จึงมีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share