แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ม. ขายฝากรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน2526 ก่อนนำไปขายให้แก่บริษัทบ. จำกัด ในวันที่ 1 ธันวาคม2526 ดังนั้นขณะขายฝาก ม. ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทอยู่ การที่จำเลยรับเงินจำนวน 56,440 บาท จากโจทก์ โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าเช่าซื้อที่ ม. ค้างชำระบริษัท บ. จำกัดนั้น เมื่อโจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ด้วยกับ ม. ผู้เช่าซื้อและบริษัท บ. จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ และจำเลยก็ไม่มีสิทธิ์รับเงินจำนวนดังกล่าวด้วยการที่จำเลยทั้งสองรับเอาเงินของโจทก์ไป จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบดังนี้ โจทก์มีสิทธิ์เรียกเงินนั้นคืนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2526 นายธรรมนูญหรือมนูญ คำฟู ได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-1030 แพร่ มาทำสัญญาขายฝากแก่โจทก์ในราคา 80,000 บาท โดยตกลงกันว่า นายธรรมนูญจะนำเงินมาไถ่คืนภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2527 ครั้นถึงกำหนดนายธรรมนูญมิได้ไถ่คืน ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2527 โจทก์ทราบว่ารถคันนี้นายธรรมนูญได้นำไปขายให้แก่จำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 โจทก์ได้ไปพบกับจำเลยที่ 2 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ร้อยตำรวจเอกธวัช รุ่งเรืองศรีแจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพราะใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่โจทก์ถืออยู่ถูกยกเลิกไปแล้ว ให้โจทก์คืนรถให้แก่จำเลยที่ 1 หรือชดใช้ราคา 56,440 บาท มิฉะนั้นจะดำเนินคดีข้อหารับของโจร โจทก์กลัวจึงยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปในวันรุ่งขึ้นโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยทั้งสองรับเงินจากโจทก์ไปเป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมายได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 46,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 58,086 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายมนูญมิได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-1030 แพร่ มาขายให้แก่จำเลยทั้งสองหากแต่นายมนูญได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปขายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526 กรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าวจึงเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2526บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ได้ให้นายมนูญ คำฟู เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทไปโดยมีอัตราชำระค่าเช่าซื้อรวม 30 งวด เดือนละ 2,755 บาท ในการนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ได้มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนมีอำนาจรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายมนูญส่งไปให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ทุกคราวไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 โจทก์ได้ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1ขอชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่นายมนูญติดค้างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด อยู่ทั้งหมดซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ยินยอมให้โจทก์ชำระเงินทั้งหมด 56,440 บาท จำเลยที่ 1 จึงรับเงินดังกล่าวส่งไปที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์จำกัด ในการดำเนินการนี้ จำเลยได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 1,230 บาทคิดหักออกจากเงินที่จะต้องส่งให้บริษัทดังกล่าว จำเลยทั้งสองทำการในฐานะตัวแทนของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวาเมนต์จำกัด ไม่ได้รับเงินไว้โดยปราศจากมูลตามกฎหมายจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน56,440 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบฟังได้เป็นยุติว่า เดิมนายธรรมนูญหรือมนูญ คำฟู เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ขณะที่นายมนูญนำรถยนต์พิพาทไปขายฝากแก่โจทก์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด หรือไม่ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายมนูญได้นำรถยนต์พิพาทไปขายฝากให้แก่โจทก์ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2526 ก่อนที่จะนำไปขายให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ในวันที่1 ธันวาคม 2526 ดังนั้น ในขณะขายฝาก นายมนูญยังเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทอยู่ รถยนต์พิพาทจึงมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด ในขณะขายฝากแต่อย่างใด
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิรับเงินจำนวน 56,440 บาท จากโจทก์ส่งให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัด หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินจำนวน 56,440 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์นี้ จำเลยอ้างว่าเป็นเงินค่าเช่าซื้อที่นายมนูญค้างชำระต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัดแต่โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ด้วยกับนายมนูญ ผู้เช่าซื้อ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บางกอกอินเวสเมนต์ จำกัดผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ และจำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิรับเงินจำนวนดังกล่าวด้วย การที่จำเลยทั้งสองรับเอาเงินของโจทก์ไป จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิเรียกคืนได้”
พิพากษายืน