คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” แต่โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการสอน ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับแปลงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียน การสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญและหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 504,281.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 411,807 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายนมกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 504,281.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 411,807 บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 411,807 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 142,488.95 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541 ต้นเงิน 76,183.85 บาท และ 82,431.40 บาท นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2541 ต้นเงิน 50,894.30 บาท และ 39,592 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2541 และต้นเงิน 20,216.50 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ดำเนินการทางฟาร์มธุรกิจจึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” แต่โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของสำนักวิชาการในการดำเนินภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัยและฟาร์มธุรกิจ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโจทก์และการดำเนินภารกิจของฟาร์มดังกล่าวจึงมุ่งเน้นในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการ การเรียน การสอน การวิจัย และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียน การสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ และหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์

Share