คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10287/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้งวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกจำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,900,000 บาท ดอกเบี้ย 1,780,000 บาท และตกลงให้นำดอกเบี้ยบางส่วนจำนวน 950,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนลดพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระที่เหลือจำนวน 830,000 บาท ตกลงพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ในส่วนต้นเงินคงเหลือโจทก์ผ่อนผันการคิดอัตราดอกเบี้ยให้และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นงวดรายเดือน หากจำเลยทั้งสามผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ยกเลิกการพักชำระดอกเบี้ยและยินยอมให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปคิดอัตราตามคำพิพากษาหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีได้ทันที บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยทั้งสามเท่านั้น หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาระงับสิ้นไปไม่ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามมาตรา 193/15 ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงวันฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1180/2542 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 2,132,645.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,900,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 31,200 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 29 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอม หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิ 1,769,683 บาท นำไปหักชำระหนี้ได้บางส่วน คงเหลือหนี้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,199,859.86 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกมีว่า คดีโจทก์ ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1180/2542 มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2542 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้งวดแรกวันที่ 29 มิถุนายน 2542 แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 จำเลยทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หลังมีคำพิพากษากับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกจำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 1,900,000 บาท ดอกเบี้ย 1,780,000 บาท และตกลงให้นำดอกเบี้ยบางส่วนจำนวน 950,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยส่วนลดพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระที่เหลือจำนวน 830,000 บาท ตกลงพักชำระหนี้ไว้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี ในส่วนต้นเงินคงเหลือโจทก์ผ่อนผันการคิดอัตราดอกเบี้ยให้และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยกับต้นเงินเป็นงวดรายเดือน หากจำเลยทั้งสามผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ยกเลิกการพักชำระดอกเบี้ยและยินยอมให้เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปคิดอัตราตามคำพิพากษาหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้โจทก์ใช้สิทธิบังคับคดีได้ทันที บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่จำเลยทั้งสามเท่านั้น หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาระงับสิ้นไปไม่ แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามมาตรา 193/15 ทั้งมิใช่กรณีเป็นหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) ดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนับตั้งแต่อายุความสะดุดหยุดลงจนถึงวันฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติข้างต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีและได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม โดยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบตรวจสอบกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินของจำเลยทั้งสามแล้ว ไม่พบว่าจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสามไม่สืบพยาน สำหรับหลักฐานหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่อ้างว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีรายได้และเงินเดือนเดือนละ 32,200 บาท และ 19,500 บาทนั้น เห็นว่า รายได้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำไปใช้จ่ายในการดำรงชีพและครอบครัว ไม่ปรากฏว่ามีเงินเหลือนำไปฝากไว้หรือนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์บ้าง อีกทั้งรายได้ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวซึ่งเป็นข้าราชการไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับชำระหนี้ในคดีแพ่งได้ พยานหลักฐานดังกล่าวไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อพิจารณาว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีแพ่งและทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ต้องบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยังเหลือหนี้อีกจำนวนมาก จำเลยทั้งสามก็ไม่ขวนขวายในการชำระหนี้ที่เหลือ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share