คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 คงมีแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1และที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย และจำเลยที่ 2 ยังนำสืบปฏิเสธว่าคำรับดังกล่าวเกิดจากการถูกบังคับขู่เข็ญ จึงไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2ได้ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยนั้น เป็นคำให้การซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน และไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3ซึ่งมิได้ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 โจทก์จึงจะอาศัยคำให้การซัดทอดดังกล่าวมาใช้ยันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 341, 342 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ 1 คัน ราคา 42,000 บาทและให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์1 คัน ราคา 42,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานใช้เอกสารราชการปลอมและฉ้อโกง ข้อหานอกนั้นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 268 วรรคแรก, 342(1) ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดรวม 2 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงลง 2 ปี รวมเป็นจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นศาลบางส่วนกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสาม และข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นเงิน25,000 บาท แก่ผู้เสียหายกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคารถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นเงิน 25,000 บาท แก่ผู้เสียหายริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี นางรัชนีรังคกูลนุวัฒน์ ผู้เสียหาย นายโอภาส รังคกูลนุวัฒน์ นายทองแดงดวงอาจ และร้อยตำรวจโทศันสนะ แก้วทับทิม พนักงานสอบสวนเป็นพยานต่อศาล ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวมาไม่มีพยานคนใดรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานหลักฐานอันใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์คงมีแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นพยานเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย และจำเลยที่ 2 ยังนำสืบปฏิเสธว่าคำรับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดจากการถูกบังคับขู่เข็ญจึงไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยนั้นเป็นคำให้การซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกัน และไม่สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้ให้การพาดพิงถึงจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดเมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็น หรือพยานพฤติเหตุแวดล้อมมาสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดแล้ว โจทก์จะอาศัยคำให้การซัดทอดดังกล่าวมาใช้ยันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share