คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยื่นมาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วนั้นเป็นการไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกวินิจฉัยได้เองโดยไม่จำต้องรอให้คู่ความฝ่ายใดหยิบยกกล่าวอ้าง กรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหา โดยการไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาก็ชอบที่จะวินิจฉัยปัญหามานั้นไปได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองขายที่ดินซึ่งตนไม่มีกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงิน 500,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองในราคาเพียง 145,000 บาท โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจึงไม่เสียหาย และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขาดนัดพิจารณาจำเลยทั้งสองขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดวันที่ 30 สิงหาคม 2534 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ทนายจำเลยทั้งสองมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาล ศาลชั้นต้นสอบเสมียนทนายจำเลยทั้งสองแล้ว เสมียนทนายจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านที่โจทก์ขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ต่อมาวันที่ 11ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยมิได้สอบถามจำเลยที่ 1 ก่อน เป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1เพิ่งทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 6ตุลาคม 2534 ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 ว่า หากจำเลยเห็นว่าคำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายอย่างไรก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งต่อไป ไม่มีเหตุที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาอีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเสีย และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ต่อไปตามรูปคดีสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2534 ซึ่งเสมียนทนายจำเลยผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยทั้งสองทราบคำสั่งแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งนั้นแล้วด้วย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2534 หาได้ไม่ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ที่ 1 ที่โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปโดยให้ยกคำร้องนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่14 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14พฤศจิกายน 2534 จึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3มิได้วินิจฉัยในข้อนี้ กรณีเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ เห็นว่า เมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1อ้างเป็นเหตุขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปนั้นถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 1มิได้อุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ดังได้วินิจฉัยมาแล้วคดีก็ไม่มีเหตุที่จะให้ยกขึ้นพิจารณาตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ได้ที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share