แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การทำรายงานเท็จของโจทก์เกี่ยวกับการไปติดต่อประสานงานและเร่งรัดเก็บเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพียงทำให้จำเลยไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวลูกค้าที่ถูกต้องแท้จริง รวมทั้ง ยังไม่ได้รับเงินค่างวดค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้าทันที และจำเลยอาจได้รับชำระล่าช้าออกไปบ้างเท่านั้น แต่การกระทำ ของโจทก์ก็มิได้ทำให้หนี้ค่างวดดังกล่าวต้องระงับไปเพราะเหตุ ดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายอื่นใดจาก การทำรายงานเท็จดังกล่าวอีก ทั้งการกระทำความผิดครั้งก่อน ๆ ของโจทก์ซึ่งไม่ใช่กรณีที่จำเลยนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ไปแล้ว กรณีจึงไม่อาจนำมาประกอบการ พิจารณาว่าการกระทำของโจทก์ครั้งนี้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงที่จำเลย จะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ แต่พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึง เลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้อง จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยมานาน 2 ปี 4 เดือนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน41,220 บาท และมีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 13,730 บาท เงินสะสมและเงินสมทบจำนวน 20,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี 7 วัน เป็นเงิน 3,203 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนเงินจำนวนอื่นให้นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและออกใบผ่านงานแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2539โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่จัดส่งเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าให้หัวหน้างานเพื่อส่งไปให้สำนักงานใหญ่พิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าจนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยร้องเรียน ทำให้จำเลยเสียโอกาสในทางการค้า จำเลยจึงลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ 8 เมษายน 2540 และตัดเงินเดือน ต่อมาโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอีกเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการบันทึกเวลาการทำงานแทนกันกับพนักงานคนอื่น ทั้งเบียดบังเวลาทำงานไปใช้ในภาระกิจส่วนตัว จำเลยได้ลงโทษด้วยการตัดเงินเดือนและตักเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม 2541จนกระทั่งเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2541 โจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานติดต่อตลอดจนเก็บเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของโจทก์พร้อมกับทำรายงานการปฏิบัติงานในแต่ละวันให้หัวหน้างานประจำสาขาของจำเลยทราบแต่โจทก์ละเลยต่อหน้าที่ และทำรายงานการปฏิบัติงานเท็จกล่าวคือโจทก์ไม่ได้ไปพบและเก็บเงินจากลูกค้าดังที่โจทก์ทำรายงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้รับข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงจำเลยจึงลงโทษด้วยการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 3,203 บาท นั้น เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิถือว่าโจทก์สละสิทธิและไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว ทั้งจำเลยไม่มีการหักเงินสะสมและจ่ายเงินสมทบจึงไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับมอบหมายให้ติดตามประสานงานและเร่งรัดเก็บเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้าโจทก์ออกปฏิบัติการแล้วได้ทำรายงานเท็จเกี่ยวกับเรื่องไปพบลูกค้าดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่เนื่องจากจำเลยมิได้กำหนดวิธีการเร่งรัดหนี้สินที่ตายตัว โจทก์จะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แม้โจทก์จะรายงานเท็จในครั้งนี้แต่โจทก์ก็ยังคงต้องรับผิดชอบเร่งรัดหนี้สินในเขตรับผิดชอบอยู่นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 41,220 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,730 บาท และค่าชดเชยสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,203 บาท รวมเป็นเงิน 58,153 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ทำรายงานเท็จเกี่ยวกับการติดตามประสานงานและเร่งรัดหนี้สินค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้า ทำให้จำเลยไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวลูกค้าที่ถูกต้อง รวมทั้งไม่ได้รับเงินค่างวดค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้า เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงแล้วนั้น เห็นว่า แม้การทำรายงานเท็จเกี่ยวกับการไปติดต่อประสานงานและเร่งรัดเก็บเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้าของโจทก์จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอยู่บ้างก็เพียงทำให้จำเลยไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวลูกค้าที่ถูกต้องแท้จริง รวมทั้งยังไม่ได้รับเงินค่างวดค่าเช่าซื้อรถยนต์จากลูกค้าทันที แต่อาจได้รับชำระล่าช้าออกไปบ้างเท่านั้น มิได้ทำให้หนี้ค่างวดดังกล่าวต้องระงับไปเพราะเหตุนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายอื่นใดจากการทำรายงานเท็จดังกล่าวอีก ทั้งการกระทำความผิดครั้งก่อน ๆ ของโจทก์ซึ่งไม่ใช่กรณีที่จำเลยนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ไปแล้วจึงไม่อาจนำมาประกอบการพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีกได้ เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966/2523 ที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ แต่พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง