แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจศาลในอันที่จะค้นหาความจริงได้โดย ไม่ต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโดยผู้ถูกกล่าวหา มิได้อยู่ด้วยจึงชอบแล้ว อย่างไรก็ดีแม้ว่าในวันที่ 30 มกราคม 2540 ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบก่อนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนไปไต่สวนต่อในวันที่ 21 มีนาคม 2540 และ ส่งหมายเรียกถึงผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีโอกาสโดยบริบูรณ์ที่จะแถลงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ รวมทั้งขออนุญาตถามค้านพยานที่เบิกความต่อศาลแล้ว ตลอดจนนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นไต่สวน แต่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรับหมายเรียกของศาลด้วยตนเองกลับไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานต่อไปจนเสร็จสำนวนแล้วมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ติดใจสืบพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
มูลคดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดต่อชีวิต ชิงทรัพย์และความผิดต่อ พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ จำเลยทั้งสองแต่งตั้งนายเฉลิมเกียรติ และนายทรงศักดิ์ เป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยตามใบแต่ง ทนายความลงวันที่ 15 ธันวาคม 2538 และวันที่ 20 มีนาคม 2539 ตามลำดับ ในระหว่างพิจารณาคดีศาลชั้นต้น มีเหตุสงสัยว่าในวันที่ 15 สิงหาคม 2539 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่ใช่ทนายความได้แอบอ้างตนว่าเป็นทนายความและเข้าทำหน้าที่ว่าความแก้ต่างในฐานะทนายจำเลยให้แก่จำเลยทั้งสองโดยไม่ชอบ ศาลชั้นต้นจึงทำการไต่สวนแล้วเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้ เข้าว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในฐานะทนายความของจำเลยทั้งสอง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แก่กระบวนพิจารณาของศาลเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 จึงมีคำสั่งให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 4 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าการที่ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงจากพยานแล้ว มีคำสั่งลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้ ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานลับหลังผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่สอบถามข้อเท็จจริงจาก ผู้ถูกกล่าวหาก่อน อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความจริงแล้วมีคำสั่งลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่เห็นชอบด้วยกับกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงคลาดเคลื่อน ต่อกฎหมาย เห็นว่า บทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจศาลในอันที่จะค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโดยผู้ถูกกล่าวหามิได้อยู่ด้วยจึงชอบแล้ว อย่างไรก็ดีแม้ว่าในวันที่ 30 มกราคม 2540 ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบก่อนก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนไปไต่สวนต่อในวันที่ 21 มีนาคม 2540 และ ส่งหมายเรียกถึงผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาย่อมมีโอกาสโดยบริบูรณ์ที่จะแถลงข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ รวมทั้งขออนุญาตถามค้านพยานที่เบิกความต่อศาลแล้ว ตลอดจนนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นไต่สวน แต่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรับหมายเรียกของศาลด้วยตนเองกลับไม่มาศาลโดยแจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานต่อไปจนเสร็จสำนวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ติดใจสืบพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อนึ่ง ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมิได้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองแอบอ้างตนเป็นทนายความและเข้าว่าความในฐานะทนายความของจำเลยทั้งสองในระหว่างพิจารณาคดีของ ศาลชั้นต้น อันเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาถูกต้องแล้ว ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.