คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จะเรียกชื่อเอกสารว่าสัญญารับสภาพหนี้ แต่มีข้อความที่จำเลยยอมรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 800,000 บาท และมีหนี้อยู่กับโจทก์ตามมูลหนี้ดังกล่าวจริง กับยอมตกลงผ่อนชำระหนี้400,000 บาท ให้โจทก์เป็นงวด ๆ ส่วนหนี้ที่เหลือให้โจทก์เรียกร้องเอาจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เสรีสากลธนกิจ จำกัด เป็นการที่โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นตามมูลหนี้ตั๋วเงินให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 2 ฉบับจำนวนเงิน500,000 บาท และ 30,000 บาท ให้แก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เสรีสากลธนกิจ จำกัด ต่อมาบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เสรีสากลธนกิจ จำกัด ได้นำเช็คสองฉบับดังกล่าวมาขายลดกับโจทก์ เมื่อครบกำหนดใช้เงิน โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองฉบับได้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2526จำเลยได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์นับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมาจนถึงวันที่ 18 มกราคม 2528 จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 11,000 บาท จากนั้นไม่ชำระอีก โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้จำเลยชำระเงิน 438,557.53 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 389,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ นายศรชัย ม้าแก้วและนายธวัช โพธิ์เจริญ จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยกรรมการผู้มีอำนาจหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ นอกนั้นคู่ความตกลงไม่กำหนดประเด็นและให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับว่า กรรมการบริษัทโจทก์มีอำนาจลงนามมอบอำนาจให้ผู้แทนฟ้องคดี โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนประเด็นเรื่องอายุความโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า จำเลยผ่อนชำระเงินครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2528 ศาลชั้นต้นเห็นว่าเรื่องอายุความได้ความครบถ้วนแล้ว จึงงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระต้นเงินที่ค้างชำระ จำนวน 389,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 มกราคม 2528จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญารับสภาพหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ใช้ชื่อเรียกว่าสัญญารับสภาพหนี้ มิได้ใช้ชื่อว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่ปรากฏข้อความเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท หนี้ตามเช็คก็ยังคงมีอยู่ครบถ้วนเต็มจำนวน 800,000บาท เพียงแต่โจทก์แบ่งแยกเรียกร้องเอาจากจำเลยจำนวน 400,000 บาทอีก 400,000 บาท เรียกร้องเอาจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เสรีสากลธนกิจ จำกัด จึงเป็นเพียงการกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้เท่านั้นสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ หากแต่เป็นสัญญารับสภาพหนี้ ซึ่งมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยเกิน 1 ปี นับแต่ขณะแรกที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันผิดนัดผ่อนชำระงวดแรก คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ดังกล่าวแล้วเห็นว่า แม้เอกสารดังกล่าวจะใช้ชื่อเรียกว่า สัญญารับสภาพหนี้ก็ตามแต่ข้อความในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 ที่ว่า จำเลยยอมรับว่าได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 800,000 บาท และยอมรับว่ามีหนี้ดังกล่าวอยู่กับโจทก์ตามมูลหนี้ดังกล่าวจริง กับยอมตกลงชำระหนี้ให้กับโจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท โดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ จำนวนเงินงวดละ 1,500 บาท และ 2,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ส่วนหนี้จำนวนที่เหลือ ตกลงให้โจทก์เรียกร้องเอาจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เสรีสากลธนกิจ จำกัด ต่อไปนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการที่โจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นตามมูลหนี้ตั๋วเงินนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 กรณีหาใช่เป็นเพียงการรับสภาพหนี้โดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ และสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนี้มีอายุความ 10ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2526 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2529 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาว่าประเด็นในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้มีการว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายถึงมูลหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาในฟ้องของโจทก์โดยชัดเจนแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้าม”
พิพากษายืน

Share