คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521-2522/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ถ้าบริษัทเลิกจ้างโดยพนักงานไม่มีความผิด จะจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชยตามข้อบังคับฯ ข้อ 9.9 ทั้งหมดแทนเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และหากเงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชยที่คำนวณไว้ตามข้อ 9.9 มีจำนวนน้อยกว่าเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46บริษัทก็จะจ่ายเพิ่มให้เท่ากับเงินค่าชดเชยตามประกาศหรือกฎเกณฑ์ของทางราชการเพียงอย่างเดียวเช่นกัน มีความหมายว่า หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แล้ว ลูกจ้างก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ได้รับค่าชดเชยไปถูกต้องแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุไม่เป็นธรรมขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมกับใช้ค่าเสียหายในระหว่างเลิกจ้างให้แก่โจทก์ หากรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกิดวิกฤติการณ์ราคาดีบุกตกต่ำทั่วโลก ทำให้จำเลยประสบภาวะการขาดทุนอย่างมาก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้วินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องเงินบำเหน็จว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่๑ ข้อ ๙.๙ และ ข้อ ๙.๙.๑ จำเลยที่ ๑ จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ข้อนี้จึงไม่ชอบพิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ มีข้อกำหนดไว้ในข้อ ๙.๙ ว่า
“๙.๙ เงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชย
บริษัทจะเริ่มคำนวณเงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชยให้พนักงานที่ทำงานมาครบ ๖ เดือน (๑๘๐ วัน) ในอัตรา ๗ เปอร์เซ็นต์ ของอัตราค่าจ้างมูลฐานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
๙.๙.๑ บริษัทจะจ่ายให้ทั้งหมดเมื่อเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดหรือครบเกษียณอายุ ถ้าบริษัทเลิกจ้างโดยพนักงานไม่มีความผิดจะจ่ายเงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชยตามข้อ ๙.๙ ทั้งหมดแทนเงินค่าชดเชยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และหากเงินบำเหน็จหรือเงินค่าชดเชยที่คำนวณไว้ตามข้อ ๙.๙ มีจำนวนน้อยกว่าเงินค่าชดเชยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๖ บริษัทก็จะจ่ายเพิ่มให้เท่ากับเงินค่าชดเชยตามประกาศหรือกฎเกณฑ์ของทางราชการเพียงอย่างเดียวเช่นกัน ฯลฯ” จากข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ ๙.๙.๑ตอนท้ายจึงมีความหมายว่า หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานแล้วลูกจ้างก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย สำหรับกรณีของโจทก์ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จน้อยกว่าค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ได้รับค่าชดเชยไปถูกต้องแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยที่ ๑ ตามข้อบังคับฉบับดังกล่าวอีกได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share