แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองจึงหาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เนื้อที่ 600 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของนางนารี แปลงที่ 6 ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับที่ดินของนางดวงพร โดยเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของตนเองให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวม 100,000 บาท หากไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือเพราะพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เนื้อที่ 180 ตารางวา ในส่วนที่ได้รับมรดกมาจากนางนารี ให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ จำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้แก่โจทก์ 468,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เนื้อที่ 420 ตารางวา ในส่วนของนางนารี แปลงที่ 6 ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับที่ดินของนางดวงพร ที่ได้จับฉลากแบ่งแยกที่ดินร่วมกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือเพราะพ้นวิสัย ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 1,092,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 และที่พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้วระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2554 ทั้งสองฉบับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองที่เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ในการต่อสู้คดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 เนื้อที่ 600 ตารางวา ในส่วนของนางนารี แปลงที่ 6 ทางด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินของนางดวงพร ที่ได้จับฉลากแบ่งแยกที่ดินร่วมกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือเพราะพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2554) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยไม่ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 โดยกำหนดให้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้มารับเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวคืน ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 โจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา ฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 เป็นเงิน 700 บาท ตามใบรับเงินค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความฉบับเลขที่ 134 และ 135 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 บัญญัติไว้ว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย…” เงินค่าธรรมเนียมที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติมาตรา 229 จึงย่อมต้องหมายถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล หารวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมอื่นที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีแล้วไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้อ่านไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 นั้น จำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลครบถ้วนแล้ว ต่อมาเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขอรับเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวคืน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ซึ่งตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าธรรมเนียมอื่นเพิ่มเติมจากคำพิพากษาเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วแต่อย่างใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามบทบัญญัติมาตรา 229 แล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสองที่โจทก์จ่ายไปจำนวน 700 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 นั้น แม้จะเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 2 อาจต้องรับผิดในชั้นที่สุดก็ตาม แต่ก็หาใช่ค่าธรรมเนียมที่ต้องนำมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ตามนัยของบทบัญญัติมาตรา 229 ไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่นำเงินจำนวน 700 บาท ดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 2 ฎีกาเพียงแต่ขอให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ มิได้ขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์จำนวน 31,200 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 2
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ