คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย” และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง การที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นมาวินิจฉัยภายในกรอบของกฎหมายย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับ ดังนั้น การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจึงต้องนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐาน มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 125 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานยันตน อาจคัดค้านเอกสารนั้น โดยคัดค้านก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ หรือไม่ว่าเวลาใดก่อนศาลพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล แต่ผู้ร้องหาได้คัดค้านสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแต่อย่างใดไม่ การที่อนุญาโตตุลาการรับฟังสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบเป็นพยานหลักฐาน จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 93 (4) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เข้าเกณฑ์ให้ศาลเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ได้มีคำขอ เป็นเรื่องนอกคำร้องนอกคำคัดค้านนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องมีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษา ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ดี ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน จึงเป็นการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดีตามบทบัญญัติดังกล่าว หาได้เกินคำขอหรือนอกคำร้องนอกคำคัดค้านไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นั้น ปรากฏว่าผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งค่าทนายความตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดอัตราขั้นสูงไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ดังนั้นค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงไม่ชอบด้วยตาราง 6 ดังกล่าว แม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดใหม่เสียให้ถูกต้อง
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อไปว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดด้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า รถยนต์โดยสารไม่ประจำทาง หมายเลขทะเบียน 30 – 1599 สมุทรปราการ ซึ่งผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้เฉี่ยวชนผู้ร้องได้รับบาดเจ็บ ต่อมาผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยขอให้วินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน อนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ว มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าสินไหมทดแทน 124,970 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่ผู้ร้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเข้าเกณฑ์ให้ศาลเพิกถอนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย” และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง การที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นมาวินิจฉัยภายในกรอบของกฎหมายย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐาน อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ดังนั้น การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐาน มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานยันตน อาจคัดค้านเอกสารนั้น โดยคัดค้านก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ หรือไม่ว่าเวลาใดก่อนศาลพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล แต่ผู้ร้องหาได้คัดค้านสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแต่อย่างใดไม่ การที่อนุญาโตตุลาการรับฟังสำเนาเอกสารที่ผู้คัดค้านนำมาสืบเป็นพยานหลักฐาน จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (4) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เข้าเกณฑ์ให้ศาลเพิกถอนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) อุทธรณ์ของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เนื่องจากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ได้มีคำขอ เป็นเรื่องนอกคำร้องนอกคำคัดค้านนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องมีอำนาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษา ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ก็ดี ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน จึงเป็นการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดีตามบทบัญญัติดังกล่าว หาได้เกินคำขอหรือนอกคำร้องนอกคำคัดค้านไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาทนั้น ปรากฏว่าผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ดังนั้นค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงไม่ชอบด้วยตาราง 6 ดังกล่าว แม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดใหม่เสียให้ถูกต้อง
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อไปว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ในส่วนนี้จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนด ค่าทนายความ 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share