คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157, 358 และ 362
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยอื่นและข้ออื่น คดีไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 18,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 8 และที่ 9 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 12,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 และที่ 9 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 8 และที่ 9 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 8 ที่ 9 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในข้อที่ว่า ฝ่ายจำเลยรู้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณที่มีการก่อสร้างถนน พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นทบวงการเมืองอันมีฐานะเป็นนิติบุคคล ขณะเกิดเหตุเทศบาลจำเลยที่ 1 บริหารเทศบาลในรูปแบบคณะเทศมนตรี จำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นเทศมนตรี ช่วงปี 2544 ถึงปี 2546 จำเลยที่ 5 มีตำแหน่งเป็นเทศมนตรีช่วงปี 2544 ถึงปี 2546 และมีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 8 เป็นพนักงานเทศบาลตำแหน่งช่างโยธา ช่วงปี 2543 ถึงปี 2557 จำเลยที่ 9 เป็นพนักงานเทศบาลตำแหน่งหัวหน้ากองช่างโยธา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 931 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลปกครองอุดรธานี และศาลมีคำสั่งให้คู่ความจัดทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นถนนคอนกรีตยาวตลอดแนวที่ดิน คิดเป็นเนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันจัดทำโครงการปรับปรุงถนนลูกรังและก่อสร้างท่อเหลี่ยมถนนบ้านท่าสวรรค์ ถนนบ้านท่านาคูณ – ท่าสุขสันต์ โดยขอรับการสนับสนุนเงินประมาณปี 2546 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุมัติ จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เห็นชอบโครงการ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ปฏิเสธความแท้จริงและถูกต้องของโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชนของโจทก์ ขณะเกิดเหตุเทศบาลตำบลจำเลยที่ 1 บริหารเทศบาลในรูปแบบคณะเทศมนตรี ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีและเทศมนตรี คือ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 39 (เดิม) และมาตรา 44 (เดิม) ให้คณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลตามกฎหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถือว่านายกเทศมนตรี เทศมนตรี และพนักงานเทศบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และมาตรา 48 เตรส กับมาตรา 50 (2) กำหนดให้นายกเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ ดังนั้น การก่อสร้างและปรับปรุงถนนจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารกิจการของเทศบาล ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมต้องทราบอำนาจหน้าที่ของตนในการให้มีและบำรุงทางบก จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 จะต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 นำสืบยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าถนนที่ปรับปรุงก่อสร้างอยู่ในที่ดินของราษฎรรายใดหรือไม่ เพราะเชื่อคำรับรองของนายประสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ว่า ถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว และไม่มีราษฎรรายใดคัดค้านการปรับปรุงก่อสร้างถนนนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 หรือไม่ และการกระทำของเทศบาลตำบลจำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานกับจำเลยที่ 8 และที่ 9 ช่างโยธา ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการให้มีและปรับปรุงถนนดังกล่าวเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 หรือไม่ ในปัญหานี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด…ต้องระวางโทษ…” เห็นว่า การกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ดังกล่าว นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 แล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษซึ่งเป็นเจตนาโดยตรงเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอยู่ในขณะลงมือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบนั้นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยไม่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ก่อนว่าถนนที่ปรับปรุงก่อสร้างนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของราษฎรรายใดหรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เชื่อคำรับรองของนายประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ก็ยังร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบก่อนว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษโดยตรง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในข้อที่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องมีเจตนาพิเศษ ซึ่งเป็นเจตนาโดยตรงเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในขณะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นด้วย หาใช่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษอันเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ผู้ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ในความผิดฐานดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share