คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” หมายความว่า ทรัพย์อันเกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ และคำว่า “สิ่งแวดล้อม” หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์… ดังนั้น การใช้ ยึดถือหรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย การที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ อันถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าสภาพเดิมของที่ดินเป็นป่าสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่โล่งเตียนอย่างใดก็ตาม และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 624 ไร่ และผู้คัดค้านที่ 2 เข้าไปปลูกต้นสัตบรรณบนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามส่วนสัดที่แต่ละคนยึดถือที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มีมูลค่าสูงและนับว่าเป็นจำนวนเกินกว่าที่จะนำไปใช้สอยเองมาก โดยประสงค์ให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วตัดฟันขายไม้นั้นต่อไป ลักษณะการกระทำจึงเป็นการค้าขายสินค้าทางการเกษตรอันมีลักษณะเป็นการค้าในความหมายของมาตรา 3 (15) แล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบนั้น แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และเมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ไม้ยืนต้นนั้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 3 รายการ คือ ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายอัมรินทร์ รวมเนื้อที่ 624 ไร่ ต้นสัตบรรณที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายสายลอง รวมเนื้อที่ 15 ไร่ และต้นสักที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายน้อย รวมเนื้อที่ 14 ไร่ พร้อมดอกผลที่เกิดมีขึ้น ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายสมโภช กับพวก ตามบัญชีรายการทรัพย์สินรวม 3 รายการ คือ ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายอัมรินทร์ ผู้คัดค้านที่ 1 รวมเนื้อที่ 624 ไร่ ต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายสายลอง ผู้คัดค้านที่ 2 รวมเนื้อที่ 15 ไร่ และต้นสักที่ปลูกอยู่บนที่ดินของนายน้อย ผู้คัดค้านที่ 3 รวมเนื้อที่ 14 ไร่ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นคดีรับฟังเป็นยุติว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายสมโภช กับพวก ตามบัญชีรายการทรัพย์สินรวม 3 รายการ คือ ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 รวมเนื้อที่ 624 ไร่ ต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 2 รวมเนื้อที่ 15 ไร่ และต้นสักที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 3 รวมเนื้อที่ 14 ไร่ พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นไว้ชั่วคราว โดยเห็นว่าทรัพย์สิน 3 รายการ ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะเป็นการค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามประการแรกว่า ทรัพย์สินรวม 3 รายการ คือ ต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด ที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 ต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด ที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 2 และต้นสักที่ปลูกอยู่บนที่ดินของผู้คัดค้านที่ 3 พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ มาตรา 3 (15) โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น มาตรา 3 (15) สามารถย้อนหลังไปใช้บังคับแก่ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่บทบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งมาตรการลงโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในมาตรการทางแพ่งหากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็สามารถมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา บทบัญญัติของกฎหมายซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามประการที่สองมีว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสาม เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสามอันได้มาจากการกระทำความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8, 9 (1), 108 ทวิ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) ที่เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” ว่า “ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า” นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ”หมายความว่า ทรัพย์อันเกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ และคำว่า “สิ่งแวดล้อม” หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและทางสังคมที่อยู่รอบ ๆ มนุษย์… ดังนั้น การใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงการกระทำต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองหรือมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ และย่อมหมายความรวมถึงทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย เมื่อคดีได้ความว่า ป่าสาธารณประโยชน์โคกหนองกรุง-หนองแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุคดีนี้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ นม 5642 เนื้อที่ 3,543 ไร่ 1 งาน 98.9 ตารางวา ออกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 โดยอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองตะไก้ ทั้งทางนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามสอดคล้องต้องกันฟังได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดในที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองกรุง-หนองแก้ว อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) จึงยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันอยู่เช่นเดิม การที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปทำสวนป่าในที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการเข้าไปทำลายระบบนิเวศน์ของทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ อันถือได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ตามนิยามของความผิดมูลฐานมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าสภาพเดิมของที่ดินเป็นป่าสาธารณประโยชน์ หรือเป็นที่โล่งเตียนอย่างใดก็ตาม ก็ยังคงอยู่ในความหมายของมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ทั้งสิ้น ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามประการต่อไปว่า ผู้คัดค้านทั้งสามปลูกต้นไม้ลงในที่ดินมิได้มีลักษณะเป็นการค้า และครอบครองที่ดินโดยสุจริตหรือไม่ คดีในส่วนผู้คัดค้านที่ 3 ที่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ แม้มีผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยคำนวณราคาทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 36,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งได้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าว ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเพราะต้องห้ามอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ในปัญหาดังกล่าว
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เข้าไปปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทตามส่วนสัดที่แต่ละคนยึดถือมีลักษณะเป็นการค้าตามความผิดมูลฐาน มาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ในข้อนี้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำสืบในทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีอาชีพเป็นเกษตรกร ได้นำที่ดินทั้งหมดดังกล่าวเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่ากับกรมป่าไม้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการถูกเวนคืนที่ดินไปซื้อที่ดินตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนิน ตำบลงิ้วกับตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา รวม 14 แปลง และเข้าทำประโยชน์ปลูกพืชไร่ ในปี 2537 ทางราชการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าในเชิงเศรษฐกิจ ในปี 2544 ผู้คัดค้านที่ 1 เคยนำที่ดินแปลงที่ 14 ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ มีเพียงแบบแสดงรายการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เนื้อที่ 900 ไร่เศษ ให้โรงงานน้ำตาลครบุรีเช่าปลูกอ้อย การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ปลูกต้นสัก ต้นยูคาลิปตัส และต้นสัตบรรณบนที่ดินเนื้อที่ 624 ไร่ และผู้คัดค้านที่ 2 ปลูกต้นสัตบรรณบนที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์มีมูลค่าสูง และนับว่าเป็นจำนวนเกินกว่าที่จะนำไปใช้สอยเองมาก โดยประสงค์ให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้เจริญเติบโตแล้วตัดฟันขายไม้นั้นต่อไป ลักษณะการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการค้าขายสินค้าทางการเกษตรอันมีลักษณะเป็นการค้าในความหมายของความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต และมิได้มีเจตนาเข้าไปยึดถือทำประโยชน์ในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ไม่เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และได้กรรมสิทธิ์ในต้นไม้ที่ปลูกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามกับพวกรวม 10 คน เป็นคดีของศาลจังหวัดสีคิ้ว ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว วินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน และเห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสิบในความผิดฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหมายถึงที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสามเข้าไปยึดถือ ครอบครองส่วนของแต่ละคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองกรุง – หนองแก้ว ทั้งได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องว่า ที่ดินดังกล่าวทางราชการได้ขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2496 โดยสงวนไว้เป็นที่เลี้ยงสัตว์พาหนะและได้หวงกันเป็นที่สาธารณประโยชน์ตลอดมา ผู้คัดค้านทั้งสามกับพวกจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงในที่ดินส่วนนั้น ๆ ขึ้นยันต่อรัฐได้ ซึ่งเมื่อที่ดินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยึดถือครอบครองเป็นส่วนสัดของตน ก็รวมอยู่ในที่ดินทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองกรุง – หนองแก้ว ด้วยเช่นนี้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีเจตนากระทำความผิดมาตั้งแต่แรก และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินนั้น ๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงมิอาจยกความสุจริตในการปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินขึ้นยันต่อรัฐได้ สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 แม้ที่ดินบางแปลงมีเอกสารสิทธิสำหรับที่ดิน แต่ก็เป็นการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมิชอบ จึงมิอาจใช้ยันต่อรัฐได้เช่นกัน ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบดีว่าเอกสารนั้นยังมีข้อพิรุธและมีการโต้แย้งดังกล่าว แต่ก็มิใยดีเข้าไปปลูกไม้ยืนต้นไว้ จึงเป็นการใช้ที่ดินพิพาทปลูกไม้ยืนต้นโดยไม่สุจริต เมื่อการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นการใช้ ยึดถือ ครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า จึงเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) การปลูกต้นไม้ลงในที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบ แม้จะมีเจตนาตัดฟันขายเมื่อโตใหญ่ต่อมาก็ตาม ไม้ยืนต้นย่อมตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม้ยืนต้นที่เติบใหญ่และมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจึงเป็นของแผ่นดินเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่จะตัดฟันไม้ยืนต้นนั้นนำออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง ส่วนไม้ยืนต้นคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำร้องของผู้ร้อง ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อให้มีการดำเนินการตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share