คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านที่ 1 มีอาชีพค้าขายโคกระบือ แต่ในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 มีรายการฝากแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมาก บางครั้งมากถึง 500,000 บาท และแม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะอ้างว่าตนเป็นเจ้ามือสลากกินรวบมีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000บาท ถึง 70,000 บาท ก็มิใช่อาชีพสุจริตที่จะอ้างถึงมูลเหตุการได้มาซึ่งทรัพย์สินของตนได้ ประกอบกับทรัพย์สินที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินยึดและอายัดไว้นั้น นอกจากเงินสด 343,340 บาทแล้ว ล้วนแต่เป็นทองรูปพรรณและอัญมณีจำนวนมากถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29 วรรคท้าย
ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 แม้ว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ทำให้ไม่สามารถริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองเป็นสามีภริยากัน และศาลลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ก็รับว่าเป็นเพียงแม่บ้านมีหน้าที่ดูแลบุตรเท่านั้น ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีอาชีพใดที่จะสามารถมีเงินได้เพื่อนำไปซื้อทรัพย์สินมีค่าเหล่านั้น แต่กลับมีเงินในบัญชีเงินฝากสูงสุดถึง340,000 บาท ทรัพย์สินอื่นก็ล้วนแต่เป็นทองรูปพรรณและอัญมณีจำนวนมากถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่เกินฐานะหรือความสามารถของผู้คัดค้านที่ 2 จึงเห็นได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ได้มาเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลจึงมีอำนาจริบทรัพย์สินนั้นได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นจำเลยที่ 2 กับนายวิเชียร กลิ้งกลม เป็นจำเลยที่ 3 และนายสมเกียรติล้อมวงษ์ เป็นจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1270/2540 ของศาลชั้นต้น และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ใช้อำนาจตามกฎหมายทำการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองแล้วปรากฏว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน และไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบรวม 49 รายการเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางการกุศลสาธารณะ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ประชุมวินิจฉัยแล้วว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองรวม 49 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองรวม 49 รายการ ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 27/2540 ลงวันที่ 25 เมษายน 2540 เอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำร้อง ขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองรวม 49 รายการตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 27/2540 ตามพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 27, 29และ 31

เลขาธิการได้ประกาศให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีโดยปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอย่างน้อยเจ็ดวันและประกาศอย่างน้อยสองวันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นแล้ว

ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า ทรัพย์สินตามรายการที่ 11, 12 และ 36 ถึง 48 เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินตามรายการที่ 2, 4, 8, 16 ถึง 22, 27 ถึง 35 และ 49 เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 1, 3, 5, 6, 7, 9, 10, 13, 14,15, 23, 24, 25 และ 26 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่นำมาฝากไว้ ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้องและถอนอายัดทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่เจ้าของ

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินรวม 49 รายการของผู้คัดค้านทั้งสอง ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 27/2540 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นสามีภริยากันและถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 314,800 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 แต่ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 ในข้อหานี้และคดีถึงที่สุดแล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า ทรัพย์สิน 49 รายการตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ 27/2540 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏจากผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีอาชีพค้าขายโคกระบือและเป็นเจ้ามือสลากกินรวบมีรายได้ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ถึง 70,000 บาท แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้คัดค้านที่ 1 เอกสารหมาย ป.ร.1 (ศาลจังหวัดตรัง) ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีอาชีพรับจ้างเป็นช่างปูน มีรายได้ประมาณวันละ 200 บาท คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 จึงแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนในคดีดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง อีกทั้งการเป็นเจ้ามือสลากกินรวบก็มิใช่อาชีพสุจริตที่จะเป็นข้ออ้างถึงมูลเหตุการได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากนี้ตามบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ในเอกสารหมาย ร.12 มีรายการฝากแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2538 ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินฝากมากถึง 500,000 บาท ประกอบกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินยึดและอายัดไว้นั้น นอกจากเงินสดจำนวน 343,340 บาทแล้ว ล้วนแต่เป็นทองรูปพรรณและอัญมณีจำนวนมากถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริต จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 วรรคท้าย ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน แม้บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์ที่นำมาฝากผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่ได้นำมาสืบจึงไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น แม้ว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 และคดีถึงที่สุดแล้ว อันทำให้ไม่สามารถริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่า ทรัพย์สินตามรายการที่ 2, 4, 8, 16 ถึง 22, 27 ถึง 35 และ 49 เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นสามีภริยากันและศาลได้พิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้ว และผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่าไม่ได้ทำงานเพียงแต่เป็นแม่บ้านดูแลบ้านและบุตรเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 มีอาชีพใดที่จะสามารถมีเงินได้เพื่อนำไปซื้อทรัพย์สินมีค่าเหล่านั้น แต่ในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 2 มีรายการฝากแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งจำนวนสูงสุดในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 2 มีเงินฝากสูงสุดเป็นเงิน 340,000 บาท สำหรับทรัพย์สินอื่นนั้นล้วนเป็นทองรูปพรรณและอัญมณีจำนวนมากถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือเกินฐานะ หรือความสามารถของผู้คัดค้านที่ 2 ในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แต่รับฟังว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ผู้ร้องขอริบเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ริบทรัพย์สินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share