แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสละมรดก โดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 นั้น ตามกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1672 ข้อ 14, 15 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 กำหนดว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่”ดังกล่าว หมายถึงนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ดังนั้น การที่โจทก์กับ ศ.ทำหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน จึงไม่ใช่หนังสือสละมรดกตามกฎหมาย
ขณะ ล.เจ้ามรดกทำพินัยกรรทม ล.มีอาการป่วยหนักมีความคิดสับสน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของ ล. และเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในทรัพย์มรดกจึงฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยได้
คดีมีทุนทรัพย์ 2,700,000 บาท เมื่อพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี ประกอบกับเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนี้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 15,000 บาท จึงชอบด้วยตาราง 6ท้าย ป.วิ.พ.
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ซึ่งค่าขึ้นศาลที่โจทก์ผู้ฟ้องอย่างคนอนาถาได้รับยกเว้นนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย