คำสั่งคำร้องที่ 1710/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ทั้งใน (1)(2) และ (3) ล้วนเป็นอุทธรณ์มาจากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ประเด็นที่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยเพื่อหาข้อยุติว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับหรือสภาพการจ้างหรือไม่จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นข้อสาระสำคัญ ควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยและการที่ศาลแรงงานกลางสั่งตัดพยานจำเลยซึ่งเป็นพยานสำคัญ2 ปากในชั้นพิจารณานั้น เป็นการไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มภาคภูมิ อาศัยเหตุดังกล่าว โปรดรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน (อันดับ 40)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 52,042 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 28)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 35)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2(1) เป็นใจความว่า โจทก์มีเจตนาบ่ายเบี่ยงเพื่อไม่ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างโดยไม่มีเหตุสมควรกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา รายงานเท็จ และกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามนายจ้าง เป็นการกระทำผิดอาญาต่อนายจ้างกระทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานทำให้จำเลยเสียหาย ก็ดีจำเลยอุทธรณ์ข้อ 2(2) ว่า การที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดนั้นจำเลยไม่เห็นพ้องด้วย ก็ดี ล้วนแต่เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างที่ฟังเป็นยุติแล้วว่า ตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น โจทก์มีเหตุผลที่จะอธิบายและชี้แจง แม้จะพูดบ่นระบายออกไปในขณะนั้นก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ดูหมิ่นหรือกระด้างกระเดื่องแต่ผู้บังคับบัญชาไม่ฟังกลับหาเหตุเลิกจ้างทันทีเช่นนี้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2(3) ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานสำคัญของจำเลย 2 ปาก ที่สั่งตัดพยานไปแล้วและมีคำพิพากษาใหม่นั้นเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ให้งดสืบพยานอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาโดยจำเลยมีโอกาสโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหลังจากศาลสั่งงดสืบพยานแล้วจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใดเลย จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share