คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3388/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 75(เดิม) บัญญัติว่า”ในกรณีที่บริษัทกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทนั้นต้องระวางโทษ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย” ดังนี้ เมื่อบริษัทเงินทุนใดกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทเงินทุนนั้นจะต้องมีความผิดทันทีเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย ปรากฏว่าจำเลยกรรมการบริษัทเงินทุนลงลายมือชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินร่วมกันอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งประกาศธนาคารแห่งประเทศกำหนดให้บริษัทเงินทุนที่เข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินนั้นนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันจนเป็นจำนวนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ ในกรณีที่บริษัทได้เข้ารับอาวัลตั๋วเงินนั้นก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525อันเป็นวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ปรากฏว่าบริษัทและจำเลยไม่เรียกหลักประกันตลอดมาจนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะพ้นความผิดได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับบริษัทเมื่อจำเลยเป็นกรรมการมีหน้าที่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามเรื่องราวให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลวางหลักประกันแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว จำเลยจึงไม่พ้นความผิด บริษัทเงินทุนกระทำความผิดฐานไม่เรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5) และ70(เดิม) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการในช่วงระยะเวลาที่บริษัทกระทำความผิดจึงต้องมีความผิดตามมาตรา 75(เดิม) ด้วยอันเป็นความผิดซึ่งโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มีเจตนาที่จะกระทำความผิดหรือไม่ โจทก์คงมีหน้าที่นำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทนั้นในขณะที่บริษัทกระทำความผิดเท่านั้น เว้นแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้น จำเลยทั้งสามจึงจะพ้นความผิดทั้งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำเอาคำเบิกความของจำเลยทั้งสามมาฟังลงโทษจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินจากพยานเอกสารที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์เองมาประกอบการวินิจฉัยลงโทษจำเลยทั้งสามเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนในขณะที่บริษัทนั้นกระทำความผิด และข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามอาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้น เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่พ้นจากการกระทำความผิด มาตรา 76(เดิม) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความเฉพาะกรณีดำเนินคดีแก่บริษัทเงินทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่การดำเนินคดีต่อกรรมการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มาใช้บังคับ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 75(เดิม) ได้กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี คดีนี้จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526 ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และ 17 กุมภาพันธ์2526 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ในกรณีการเข้ารับอาวัลตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนได้กระทำก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลใช้บังคับโดยไม่มีทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้บริษัทเงินทุนนั้นยังมีเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับที่จะให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองดังกล่าวหากพ้นกำหนด 1 ปี บริษัทจึงจะมีความผิด ประกาศดังกล่าวจึงหาใช่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลังให้ผู้ลงลายมือชื่อเข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต้องรับผิดไม่ มาตรา 79 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯพ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้” และวรรคสามบัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้วให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน” ซึ่งมีความหมายว่า หากรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ก็ให้คณะกรรมการนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ได้ มิได้หมายความว่า ความผิดตามมาตราทั้งสองดังกล่าวรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการนั้นต้องเปรียบเทียบปรับเสียก่อน โจทก์จึงจะมีอำนาจฟ้องเมื่อกรณีความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 75(เดิม)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526 ซึ่งต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5) และ 75(เดิม) ก่อนแก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522พ.ศ. 2526 มาตรา 33 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ซึ่งมีกำหนดลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ3 ปี จึงเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 24, 28, 29, 30(5), 35, 70 และ 75 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5)ประกอบมาตรา 75 วรรคสอง จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดเกี่ยวกับการไม่เรียกให้ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2522 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการในช่วงระยะเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัดกระทำความผิดคือ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526 อันเป็นวันพ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยใช้บังคับ จึงต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 75 (เดิม) ซึ่งบัญญัติว่า”ในกรณีที่บริษัทใดกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทนั้นฯลฯ ต้องระวางโทษ ฯลฯ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนได้เสียในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย” ซึ่งเห็นได้ว่า เมื่อบริษัทเงินทุนใดกระทำความผิดตามมาตรา 70 กรรมการของบริษัทเงินทุนนั้นจะต้องมีความผิดทันที เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0004/2522 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับอาวัลร่วมกับอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ที่เข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเรียกให้นายสุธีผู้ออกตั๋วเงินนั้นนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันจนเต็มจำนวนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวใช้บังคับ ในกรณีที่บริษัทได้เข้ารับอาวัลตั๋วเงินนั้นก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 อันเป็นวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับแต่ปรากฏว่าบริษัทและจำเลยที่ 1 ไม่เรียกหลักประกันตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 จะพ้นความผิดได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าวของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด การที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าตามเอกสารหมาย จ.24 เป็นการเข้ารับอาวัลตั๋วเงินโดยไม่เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 1 ไม่ทราบเรื่องราวต่าง ๆ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด เนื่องจากไม่ได้นั่งทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแล้ว และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเรียกหลักประกันแต่เป็นหน้าที่ของนายสุธีนั้น ก็เป็นวิธีปฏิบัติเป็นการภายในของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด แต่จำเลยที่ 1เป็นกรรมการมีหน้าที่ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยต้องติดตามเรื่องราวให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลวางหลักประกัน เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผิด
สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่พ้นความผิดด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์จะนำเอาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่รับว่าลงลายมือชื่อรับอาวัลในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวมาฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีได้ความว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด กระทำความผิดฐานไม่เรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5)และ 70 (เดิม) จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการในช่วงระยะเวลาที่บริษัทดังกล่าวกระทำความผิดจึงต้องมีความผิดตามมาตรา 75 (เดิม) ด้วย อันเป็นความผิดซึ่งโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาที่จะกระทำความผิดหรือไม่โจทก์คงมีหน้าที่นำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทนั้นในขณะที่บริษัทกระทำความผิดเท่านั้น เว้นแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้น จำเลยทั้งสามจึงจะพ้นความผิด ทั้งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ไม่ปรากฏว่าได้นำเอาคำเบิกความของจำเลยทั้งสามมาฟังมาลงโทษจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินจากเอกสารหมาย จ.22จ.24 และ จ.26 ซึ่งเป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้าง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์เองมาประกอบการวินิจฉัยลงโทษจำเลยทั้งสาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัดในขณะที่บริษัทนั้นกระทำความผิด และข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เช่นนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ย่อมไม่พ้นจากการกระทำความผิด สรุปแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3กระทำความผิดเกี่ยวกับการไม่เรียกให้ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ข้อ 2 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า นับแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจพบการกระทำความผิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาถึง 4 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 76 (เดิม)บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา 70 ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาล ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดหรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ” เนื่องจากมูลเหตุที่อ้างว่าเป็นความผิด คือ การไม่เรียกหลักประกันในการรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น กฎหมายกำหนดว่าบริษัทนั้นมีความผิดตามมาตรา70 (เดิม) ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดในฐานะเป็นกรรมการตามมาตรา 75 (เดิม) ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำในความผิดกรรมเดียวกัน การวินิจฉัยเรื่องอายุความจึงต้องนำมาตรา 75 (เดิม)มาพิจารณา เห็นว่า ตามมาตรา 76 (เดิม) เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความเฉพาะกรณีดำเนินคดีแก่บริษัทเงินทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่การดำเนินคดีต่อกรรมการซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ไม่มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ต้องนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 มาใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 75 (เดิม) ได้กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 1 ปี คดีนี้จึงมีอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และ17 กุมภาพันธ์ 2526 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2530ยังไม่เกินกำหนด 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ข้อ 3 มีว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในภายหลังการรับอาวัล จึงไม่อาจบังคับย้อนหลังให้ผู้ลงลายมือชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต้องรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นการออกข้อกำหนดกรณีบริษัทเงินทุนเข้ารับอาวัลตั๋วเงินให้แก่กรรมการของบริษัทเงินทุนนั้นหรือบริษัทจำกัด หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนนั้นบริษัทเงินทุนนั้นจะต้องให้ผู้ที่บริษัทเงินทุนนั้นได้เข้ารับอาวัลตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกัน ในกรณีการเข้ารับอาวัลตั๋วเงินให้แก่บุคคลดังกล่าวที่บริษัทเงินทุนได้กระทำขึ้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับโดยไม่มีทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้ บริษัทเงินทุนต้องให้ผู้ที่ตนเข้ารับอาวัลตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันจนเต็มจำนวนหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้บริษัทเงินทุนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศต่อไปภายหลังจากที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับแล้ว หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีความผิด กล่าวคือในกรณีการเข้ารับอาวัลตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนได้กระทำก่อนวันที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลใช้บังคับโดยไม่มีทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนหนี้บริษัทเงินทุนนั้นยังมีเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับที่จะให้ผู้ที่บริษัทเข้ารับอาวัลตั๋วเงินนำทรัพย์สินมาจำนำหรือจำนองดังกล่าว หากพ้นกำหนด 1 ปี บริษัทจึงจะมีความผิดประกาศดังกล่าวจึงหาใช่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลังให้ผู้ลงลายมือชื่อเข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินต้องรับผิดไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 4 มีว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 70 (เดิม) หรือมาตรา75 (เดิม) จะต้องให้คณะกรรมการตามมาตรา 79 เปรียบเทียบก่อนหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เรื่องนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องมาตรา 79 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า”ความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้” และวรรคสามบัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน” ซึ่งหมายความว่า หากรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นก็ให้คณะกรรมการนั้นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับความผิดตามมาตรา 70หรือมาตรา 75 ได้ มิได้หมายความว่า ความผิดตามบทมาตราทั้งสองดังกล่าวรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการนั้นต้องเปรียบเทียบปรับเสียก่อนโจทก์จึงจะมีอำนาจฟ้อง เมื่อกรณีความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 75 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นและคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสามหรือไม่เห็นว่า ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2526ซึ่งต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา30 วรรคหนึ่ง (5) และ 75 (เดิม) ก่อนแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 33ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ซึ่งมีกำหนดลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี จึงเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด สมควรกำหนดให้ถูกต้อง พิเคราะห์สภาพความผิดแล้วไม่ร้ายแรงนัก กับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เคยต้องโทษมาก่อน สมควรให้โอกาสกลับตัวสักครั้ง จึงให้รอการลงโทษแต่ให้ลงโทษปรับไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง (5), 75ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share