แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสี่มาปฏิบัติราชการทำการสอนนักศึกษาตามกระบวนวิชาที่ได้รับมอบหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษแม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จะไม่ลงเวลาทำงานตามระเบียบว่าด้วยการลงเวลาอันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม ก็เป็นเรื่องคนละส่วนกันกับเรื่องนี้ที่จะต้องไปดำเนินการตามระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาได้กระทบถึงสิทธิอันมีอยู่โดยชอบในการรับเงินค่าตอบแทนพิเศษของโจทก์ทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ ทั้งแบบฟอร์มก็เป็นแบบฟอร์มที่ให้จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชารับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์ในภาควิชาไม่ใช่หลักฐานรับรองการลงเวลาปฏิบัติงาน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และไม่มีสิทธิขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษได้ นอกจากนี้จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาซึ่งมีหน้าที่รับรองการปฏิบัติราชการเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ จะต้องปฏิบัติการในส่วนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัดด้วยความเที่ยงธรรมและเสมอภาค แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า จำเลยก็รับรองการปฏิบัติราชการและทำเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้อาจารย์อื่นซึ่งไม่ได้ลงชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของข้าราชการเช่นเดียวกัน แสดงว่าจำเลยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับรองการปฏิบัติราชการเช่นเดียวกับที่ใช้กับโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ในการที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้รับ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายในงวดประจำเดือนตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวในอันที่จะไม่เสนอชื่อโจทก์ที่ 1ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละงวดเดือน เจตนาของจำเลยเช่นว่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ธุรการการเงินเสนอขึ้นมาให้จำเลยพิจารณาลงลายมือชื่อรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่งที่จำเลยพบเห็นแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละเดือนที่เจ้าหน้าที่เสนอขึ้นมาเท่านั้น เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกในงวดเดือนต่อมาก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 และขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 7 งวดจึงเป็นความผิด 7 กรรมต่างกันต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์สำนวนที่สามว่าโจทก์ที่ 3 เรียกโจทก์สำนวนที่สี่ว่าโจทก์ที่ 4 และเรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 91 และนับโทษจำเลยทั้งสี่สำนวนต่อกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ทั้งสี่มีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รวม 4 คดี จำคุกคดีละ 1 ปี ปรับคดีละ 3,000 บาท รวมเป็นจำคุก 4 ปี ปรับ 12,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับความผิดที่กระทำไม่ร้ายแรงนัก ทั้งจำเลยมีอายุมากแล้วเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นอาจารย์ในภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจำเลยเป็นหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนมีหน้าที่รับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์ในภาควิชาเพื่อทำเรื่องเสนอขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษไปยังคณบดีคณะแพทยศาสตร์ซึ่งอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538 ซึ่งออกมายกเลิกประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 9/2535 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้รับรองการปฏิบัติราชการและงดขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอาจารย์คณะแพทยศาสตร์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสี่ประการแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบต่อสู้คดีว่า ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฉบับที่ 3/2538 ซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาทำงานของอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ไว้จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยการลงเวลาจึงจะมีสิทธิเบิกเงินค่าตอบแทนพิเศษได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ลงชื่อในสมุดลงเวลาทำงานและไม่ได้ยื่นใบลา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนโจทก์ที่ 1ถูกยืมตัวไปช่วยราชการไม่ปฏิบัติตามบันทึกจำเลย จำเลยจึงไม่รับรองการปฏิบัติราชการในแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษและขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออก เห็นว่า ตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฉบับที่ 3/2538 นั้น ได้ระบุเหตุผลของการออกประกาศฉบับดังกล่าวไว้ว่า”ด้วยเห็นเป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนแก่อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในภาควิชากายวิภาคศาสตร์… และภาควิชาต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์… 1. ให้ยกเลิกประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่…ฉบับที่ 9/2535 …3. ให้เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่อาจารย์ที่ปฏิบัติงานดังนี้… 3.2 อาจารย์นอกเหนือจาก 3.1 เดือนละ 2,000 บาททั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป…” ซึ่งการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษดังกล่าว ก็คือยกเลิกข้อ 3.3 ในประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 9/2535 ที่ว่า “อาจารย์ที่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษนี้จะต้องมีวันปฏิบัติราชการในคณะแพทยศาสตร์ไม่น้อยกว่า 15 วันทำการต่อเดือน” ออกไป ทำให้ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538มีผลต่ออาจารย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ทุกคนโดยไม่ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องมีวันปฏิบัติราชการในคณะแพทยศาสตร์ไม่น้อยกว่า15 วันทำการต่อเดือนตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 9/2535จึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ดังนั้น อาจารย์ที่ปฏิบัติงานในคณะแพทยศาสตร์ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามประกาศฉบับดังกล่าวได้ ไม่ว่าอาจารย์ผู้นั้นจะปฏิบัติงานในคณะแพทยศาสตร์จำนวนกี่วันต่อเดือนก็ตาม จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนคณะแพทยศาสตร์ได้รับทราบประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538ดังกล่าวแล้วในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับรองการปฏิบัติราชการและขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่อาจารย์ในภาควิชาที่จำเลยเป็นหัวหน้าก็ต้องผูกพันและอยู่ภายใต้บังคับของประกาศฉบับดังกล่าวด้วยการพิจารณารับรองการปฏิบัติราชการและขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่อาจารย์ในภาควิชาจำเลยจำต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538 หามีสิทธิเพิ่มเติมเงื่อนไขประการใดขึ้นอีกได้ไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่นำสืบได้ความว่า โจทก์ทั้งสี่มาปฏิบัติงานในภาควิชาโดยทำการสอนนักศึกษาตามที่ได้รับมอบหมายทั้งภาค 1 และภาค 2 ในปีการศึกษา 2538 ซึ่งบันทึกการเรียนการสอนตามเอกสารดังกล่าวจำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่มาปฏิบัติราชการทำการสอนนักศึกษาตามกระบวนวิชาที่ได้รับมอบหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษแม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จะไม่ลงเวลาทำงานตามระเบียบว่าด้วยการลงเวลาอันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม ก็เป็นเรื่องคนละส่วนกันกับเรื่องนี้ที่จะต้องไปดำเนินการตามระเบียบข้าราชการพลเรือนดังที่จำเลยกล่าวอ้างอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาได้กระทบถึงสิทธิอันมีอยู่โดยชอบในการรับเงินค่าตอบแทนพิเศษของโจทก์ทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ ทั้งแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษก็เป็นแบบฟอร์มที่ให้จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชารับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์ในภาควิชา ไม่ใช่หลักฐานรับรองการลงเวลาปฏิบัติงาน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และไม่มีสิทธิขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ได้ ซึ่งความข้อนี้นายแพทย์โชติ ธีตรานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ในการขีดฆ่าชื่อผู้ไม่มาปฏิบัติราชการออก หัวหน้าภาควิชาจะต้องวินิจฉัยให้ถ่องแท้ว่าผู้นั้นมาปฏิบัติราชการจริงหรือไม่ ทั้งนายมนัสจันทร เจ้าหน้าที่ธุรการการเงินของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พยานโจทก์ทั้งสี่เบิกความสนับสนุนว่า ได้ทำแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษของงวดประจำเดือนสิงหาคมเสนอจำเลยเพื่อรับรอง จำเลยขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออก พยานได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าปัจจุบันการนับเวลาปฏิบัติงาน 15 วัน ได้ถูกยกเลิกแล้วตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538 โดยนำประกาศฉบับดังกล่าวให้จำเลยดูด้วย แต่จำเลยยังยืนยันขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกตามเดิมดังนั้น จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาซึ่งมีหน้าที่รับรองการปฏิบัติราชการเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ จะต้องปฏิบัติการในส่วนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538โดยเคร่งครัดด้วยความเที่ยงธรรมและเสมอภาค แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของข้าราชการว่าในส่วนของอาจารย์สริตาธีระวัฒน์สกุล ซึ่งไม่ลงเวลาทำงานในวันที่ 3, 4, 7, 15 และวันที่ 16 สิงหาคม2538 และอาจารย์แพทย์หญิงสุมาลี ศิริอักษร ซึ่งไปช่วยราชการในภาควิชาอื่นและมาสอนนักศึกษาในภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนบางวิชาก็ไม่ได้ลงชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของข้าราชการเช่นเดียวกัน จำเลยก็รับรองการปฏิบัติราชการและทำเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้บุคคลทั้งสองแสดงว่าจำเลยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับรองการปฏิบัติราชการเช่นเดียวกับที่ใช้กับโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ในการที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้รับตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฉบับที่ 3/2538 ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ลงชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของข้าราชการประจำเดือนสิงหาคม 2538 และไม่มีใบลาจำเลยจึงไม่รับรองการปฏิบัติราชการและขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4ออก ไม่ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำเดือนสิงหาคม 2538ให้ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ดังวินิจฉัยมาแล้วได้ ที่จำเลยอ้างว่าการยืมตัวโจทก์ที่ 1 ไปช่วยปฏิบัติราชการทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ช่วยปฏิบัติราชการทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งคราวและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ช่วยปฏิบัติราชการทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้วนั้นแต่โจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามบันทึกของจำเลยที่ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งให้ทราบระยะเวลาที่ต้องการโจทก์ที่ 1 ไปปฏิบัติงานเป็นคราว ๆ ไป จำเลยจึงขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษและเมื่อโจทก์ที่ 1 ถูกยืมตัวไปช่วยราชการจึงไม่มีสิทธิเบิกเงินค่าตอบแทนพิเศษที่ต้นสังกัดต่อไปนั้น เห็นว่าแม้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเห็นชอบตามข้อเสนอของคณบดีคณะแพทยศาสตร์และมีหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2538 อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ช่วยปฏิบัติราชการทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้งคราวก็ตาม แต่ต่อมาเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 6 กันยายน 2538 ถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ไปช่วยปฏิบัติราชการดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 มาปฏิบัติราชการที่ต้นสังกัดได้เป็นครั้งคราวซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับทราบและแจ้งให้คณะแพทยศาสตร์ต้นสังกัดของโจทก์ที่ 1 ทราบจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างข้อเสนอของจำเลยซึ่งถูกลบล้างโดยคำสั่งตามหนังสือของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยเห็นชอบด้วยแล้วขึ้นต่อสู้ได้ และจำเลยก็ไม่อาจสั่งการยืนยันให้โจทก์ที่ 1 ถือปฏิบัติตามที่ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนเสนออันเป็นการขัดหรือแย้งต่อหนังสือของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 6 กันยายน 2538 ได้ ทั้งในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ไปช่วยปฏิบัติราชการดังกล่าวก็ได้กลับมาสอนตามกระบวนวิชาที่โจทก์ที่ 1 รับผิดชอบโดยจำเลยรับรองการสอนดังกล่าวด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ยังปฏิบัติราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนอยู่ มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 3/2538 ดังนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้เช่นกัน ถึงแม้จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ แต่จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน นอกจากจะมีหน้าที่รับผิดชอบงานในภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนแล้วจำเลยยังมีหน้าที่จะต้องรับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์ในภาควิชาดังกล่าวและเสนอชื่ออาจารย์ในภาควิชาดังกล่าวเพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้อาจารย์ในแต่ละเดือนไปยังรองคณบดีฝ่ายงานคลังเพื่ออนุมัติอีกด้วย ซึ่งขั้นตอนการรับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์และทำเรื่องเสนอชื่ออาจารย์เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละเดือนดังกล่าวเป็นขั้นตอนคนละส่วนกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษซึ่งเป็นหน้าที่ของรองคณบดีฝ่ายงานคลังดังจะเห็นได้ตามแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษที่จำเลยเสนอรายชื่ออาจารย์ไปจำนวนเท่าใด รองคณบดีฝ่ายงานคลังก็จะอนุมัติเบิกจ่ายเงินตามจำนวนอาจารย์ที่จำเลยรับรองการปฏิบัติราชการไปเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่อาจารย์แพทย์เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายในงวดประจำเดือนตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง จึงเป็นคนละเรื่องคนละส่วนกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของจำเลยในคดีนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสี่ประการที่สองมีว่า การกระทำของจำเลยต่อโจทก์ที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ สำหรับการกระทำของจำเลยต่อโจทก์ที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 และขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษเมื่อวันที่ 6 กันยายน 9 ตุลาคม 3 พฤศจิกายน6 ธันวาคม และ 28 ธันวาคม 2538 กับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และ 8 มีนาคม2539 ในงวดประจำเดือนสิงหาคม, กันยายน, ตุลาคม, พฤศจิกายนและธันวาคม 2538 กับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2539 เห็นว่า แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวกันในอันที่จะไม่เสนอชื่อโจทก์ที่ 1 ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละงวดเดือนดังกล่าว เจตนาของจำเลยเช่นว่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ธุรการการเงินเสนอขึ้นมาให้จำเลยพิจารณาลงลายมือชื่อรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่งที่จำเลยพบเห็นแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละเดือนที่เจ้าหน้าที่เสนอขึ้นมาเท่านั้น เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกในงวดเดือนต่อมาก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 และขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 7 งวด จึงเป็นความผิด 7 กรรมต่างกันต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จึงต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมรวม 7 กระทง ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาขอให้ลงโทษสถานหนักนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 91 สำนวนแรกให้จำคุกกระทงละ 1 ปีและปรับ 3,000 บาทรวม 7 กระทง เป็นโทษจำคุก 7 ปี และปรับ 21,000 บาท สำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ให้ลงโทษสำนวนละ 1 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับ 3,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 9,000 บาท รวมสี่สำนวน เป็นโทษจำคุก 10 ปี และปรับ 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับการกระทำความผิดของจำเลยไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ปรากฏข้อเสียหายประการอื่น และจำเลยมีอายุมากปัจจุบันได้เกษียณราชการแล้ว เห็นสมควรให้ความปรานีแก่จำเลยได้ใช้วิชาชีพแพทย์เป็นประโยชน์ต่อสังคมในบั้นปลายชีวิต เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30