คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลา และสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่า ได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้น ไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 ที่ได้ประชุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 เป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่จดทะเบียนให้โจทก์ออกจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนให้โจทก์กลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ต่อไป
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 ที่ให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้โจทก์กลับมาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามเดิมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ตามสำเนาหนังสือรับรอง สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 รวม 12 คน โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 กับบุคคลอื่นอีก 9 คน ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ขณะเกิดเหตุคดีนี้นายชวลิต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2544 และอยู่ระหว่างร้องขอจัดการมรดก ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ตั้งผู้จัดการมรดกของนายชวลิต 6 คน คือ นายไชย จำเลยที่ 3 นางสุนีย์ โจทก์ นางสาวชวเนตร และนางสาวชวนุช ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 นางชมพูนุช กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ในวันที่ 25 เมษายน 2556 เวลา 10 นาฬิกา ณ ห้องประชุมของสำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาตามวาระการประชุม ดังนี้ วาระที่ 1 พิจารณารับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2555 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติและรับรองงบดุล บัญชีกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสด ประจำปี 2555 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีประจำปี 2555 วาระที่ 3 พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชีบริษัท ประจำปี 2556 วาระที่ 4 พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ตามสำเนาหนังสือเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2556 นายเฉลิมพงศ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางสุนีย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ จำเลยที่ 1 และเป็นผู้จัดการมรดกของนายชวลิต ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีหนังสือถึงผู้จัดการมรดกของนายชวลิตทุกคนให้เข้าร่วมประชุมผู้จัดการมรดกเพื่อพิจารณาเรื่องการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 24 เมษายน 2556 ตามสำเนาหนังสือเชิญประชุม ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2556 ในการประชุมผู้จัดการมรดกของนายชวลิตดังกล่าวที่ประชุมโดยผู้จัดการมรดกของนายชวลิต 4 คน จากจำนวน 6 คน มีมติให้นางสุนีย์เป็นผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชวลิตและออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 ตามสำเนารายงานการประชุมผู้จัดการมรดกของนายชวลิตเอกสารหมาย ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวอารายา เป็นผู้รับมอบอำนาจเข้าร่วมประชุมแทน แต่จำเลยที่ 2 ผู้ดำเนินการประชุมเห็นว่าเอกสารการมอบอำนาจของโจทก์ไม่สมบูรณ์จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมและการประชุมได้ดำเนินการพิจารณาไปตามลำดับวาระการประชุมที่แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุม ซึ่งการประชุมในวาระที่ 4 พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และมีมติให้ถอดถอนโจทก์ และในการประชุมใหญ่ดังกล่าวนางสุนีย์ได้ออกเสียงลงคะแนนในทุกวาระโดยใช้สิทธิในหุ้นที่ตนเองถืออยู่และใช้สิทธิในหุ้นของนายชวลิตในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชวลิต ตามสำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 วันที่ 29 เมษายน 2556 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้โจทก์พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนสำหรับการประชุมในวาระที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2556 ของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคสอง กำหนดให้ระบุสถานที่ วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน ไม่ได้บังคับให้ต้องระบุรายการทุกกิจการไว้เป็นหัวข้อวาระการประชุม เว้นแต่สภาพแห่งกิจการใดที่จะประชุมปรึกษา เพื่อลงมติพิเศษจึงจะมีความจำเป็นต้องระบุไว้ และคำว่าสภาพกิจการหมายความว่า สภาพความเป็นอยู่ของงานที่ประกอบอยู่ในขณะนั้น จึงหมายถึงสภาพการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น มติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการกำหนดขึ้นก่อนมีการประชุมใหญ่ แต่เกิดจากการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 มติให้ถอดถอนโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ใช่สภาพกิจการที่มีอยู่ในขณะที่บอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะระบุวาระการประชุมใหญ่ดังกล่าว ในวาระที่ 4 ว่าเป็นวาระการพิจารณาเรื่องอื่น ๆ และที่ประชุมใหญ่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 ได้โดยชอบ สำหรับรายงานการประชุมใหญ่ เป็นการบันทึกการประชุมเฉพาะที่เป็นสาระสำคัญและสรุปโดยรวมไม่ได้บันทึกโดยละเอียดคำต่อคำ จึงไม่อาจนำมารับฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้หยิบยกเรื่องการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณานั้น เห็นว่า ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดสำหรับข้อความในหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 วรรคสอง บัญญัติว่า “คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เป็นการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นของบริษัททราบล่วงหน้า นอกจากจะแจ้งว่าบริษัทจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวัน เวลาและสถานที่ใดแล้ว ยังกำหนดให้แจ้งถึงสภาพกิจการที่จะได้ประชุมกัน และหากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษก็ต้องระบุข้อความที่จะให้ลงมติอีกด้วย เพื่อผู้ถือหุ้นจะได้มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จะประชุมกันได้อย่างเต็มที่ สำหรับสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันซึ่งจะต้องระบุไว้ในคำบอกกล่าวนั้น คือเรื่องหรือกิจการที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้น และไม่จำต้องเป็นเรื่องเฉพาะสภาพการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้นหรือต้องเป็นเรื่องที่ต้องลงมติพิเศษเท่านั้น เมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือขอเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 แล้ว เห็นได้ว่าได้ระบุถึงสภาพแห่งกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาและลงมติเพียง 3 เรื่อง โดยระบุไว้เป็นวาระที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่มีวาระเรื่องการพิจารณาถอดถอนกรรมการของจำเลยที่ 1 ส่วนวาระที่ 4 ระบุว่าพิจารณาเรื่องอื่น (ถ้ามี) นั้นไม่เป็นการระบุถึงสภาพกิจการหรือเรื่องสำคัญที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ ทั้งผู้ถือหุ้นไม่มีโอกาสเตรียมตัวที่จะมาสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เนื่องจากไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องใดบ้าง หรือกล่าวได้ว่าวาระการประชุมเรื่องอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งในเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1151 ได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นที่จะถอดถอนได้ แสดงว่าเรื่องการถอดถอนกรรมการบริษัทเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นได้ว่าเป็นการกระทบต่อส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นเนื่องจากเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอำนาจบริหารกิจการและดูแลผลประโยชน์แทนตน ผู้ถือหุ้นจึงชอบที่จะได้รับทราบโดยการแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวล่วงหน้าเพื่อได้เตรียมตัวก่อนเข้าร่วมพิจารณาในที่ประชุม การที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ในวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ โดยไม่มีวาระเรื่องการถอดถอนโจทก์ดังกล่าวในคำบอกกล่าวเรียกประชุม เป็นการพิจารณาและลงมตินอกวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้ออื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share