คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินคนละประเภทและกำหนดขึ้นโดยกฎหมายต่างกัน การวินิจฉัยเงินประเภทหนึ่งหามีผลกระทบถึงเงินอีกประเภทหนึ่งไม่ เพราะหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง กับการจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างดังกล่าวตามกฎหมาย. อาจกำหนดแตกต่างกันได้ การกระทำของลูกจ้างกรณีเดียวกันจึงอาจเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง และในคราวเดียวกันอาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้.ซึ่งจะทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินดังกล่าวแตกต่างกันได้ฉะนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติเพราะเหตุที่ถูกควบคุมตัวนั้นไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร.โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับจำเลยซึ่งจำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จและจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงและเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา583 หรือไม่แล้วจึงเป็นการวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลย จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่อไป.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ให้แก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติผิดวินัยอย่างร่ายแรงตามข้อบังคับว่าด้วยวินัยพนักงานศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยมีสิทธิหักกลบลบหนี้ก่อน จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการตลอดมา จึงทำให้โจทก์ไม่สามารถไปทำงานตามปกติได้นับตั้งแต่วันนั้นติดต่อกันมาจนถึงวันที่ 12มีนาคม 2528 โดยมิได้ลาตามระเบียบของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานฐานละทิ้งหน้าที่โดยกล่าวหาว่า โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ขาดงานไปตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2528 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2528 ซึ่งเป็นวันมีคำสั่งไล่ออกจากงานโดยไม่ทราบเหตุผลหรือมีใบลาตามระเบียบ เป็นการประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 3 วันซึ่งจะถือว่าไม่เป็นความผิดนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยซึ่งโจทก์ไม่สามารถติดต่อหรือแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ไม่มาทำงานตามปกติ แต่ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ยอมรับอยู่แล้วว่าในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว โจทก์ได้ใช้ให้เพื่อนไปแจ้งเหตุต่อจำเลย เพียงแต่ปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าเพื่อนได้ไปแจ้งเหตุแก่จำเลยหรือไม่เท่านั้น แสดงว่าโจทก์สามารถติดต่อบุคคลอื่นหรือแจ้งเหตุต่อจำเลยได้ไม่ใช่มีเหตุสุดวิสัย เมื่อโจทก์มิได้แจ้งเหตุแก่จำเลย ต้องถือว่าโจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ให้แก่โจทก์
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยเป็นเงินคนละประเภท และสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยกฎหมายต่างกัน การวินิจฉัยถึงสิทธิของลูกจ้างว่าจะได้รับเงินประเภทใดเมื่อถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินประเภทใดให้แก่ลูกจ้างต้องพิจารณาตามบทกฎหมายเกี่ยวกับเงินนั้นๆ แต่ละประเภทไป กล่าวคือเงินบำเหน็จต้องพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 หรือข้อ 47 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หรือมาตรา 583 แล้วแต่กรณีการวินิจฉัยเงินประเภทหนึ่งหามีผลกระทบถึงเงินอีกประเภทหนึ่งไม่ เพราะระเบียบข้อบังคับของนายจ้างเกี่ยวกับเงินบำเหน็จอาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินแตกต่างกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้ กรณีที่ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จแตกต่างกับบทกฎหมายดังกล่าว ก็จะเห็นได้ชัดว่าการกระทำของลูกจ้าง กรณีเดียวกันอาจเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จและในคราวเดียวกันอาจไม่เป็นความผิดที่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้มิได้หมายความว่า ถ้าการกระทำของลูกจ้างไม่เป็นความผิดหรือเป็นความผิดแต่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 แล้ว จะถือว่าไม่เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างหรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 เสมอไป คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์กระทำผิดฐานละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานไปตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2528จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2528 ซึ่งเป็นวันมีคำสั่งไล่ออกจากงานโดยไม่ทราบเหตุผลโดยมิได้ลาตามระเบียบของจำเลยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่ากรณีที่มีความจำเป็นซึ่งไม่อาจมาทำงานตามปกติต้องแจ้งเหตุให้จำเลยทราบเมื่อโจทก์มิได้แจ้งเหตุแก่จำเลยเป็นการประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยเป็นการต่อสู้ว่า ความผิดของโจทก์นอกจากจะเป็นความผิดซึ่งต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) แล้วยังเป็นการต่อสู้ว่าความผิดของโจทก์เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จและเป็นความผิดซึ่งต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หาใช่ต่อสู้เพียงว่า เป็นความผิดซึ่งต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) ข้อเดียวไม่ แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติเพราะเหตุที่ถูกควบคุมตัวนั้น ไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งจะต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่จ่ายเงินบำเหน็จและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นการวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลย แต่เนื่องจากในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้อย่างไร ทั้งจำเลยโต้เถียงอยู่ว่าในระหว่างที่โจทก์ถูกควบคุมตัว โจทก์สามารถติดต่อหรือแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุขัดข้องที่ไม่อาจมาทำงานตามปกติได้ การที่โจทก์ไม่แจ้งเหตุแก่จำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ ซึ่งข้อเท็จจริงข้อนี้เป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยปัญหาที่ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงซึ่งต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยโต้เถียงและระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้เช่นนั้นจริงก็อาจถือได้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงอันเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทั้งสามประเภทให้แก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่ยุติและข้อเท็จจริงที่มีอยู่ไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เพื่อให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอันยุติ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ว่าอย่างไรและในระหว่างที่โจทก์ถูกควบคุมตัว โจทก์สามารถติดต่อหรือแจ้งให้จำเลยทราบถึงเหตุที่ไม่สามารถมาทำงานตามปกติหรือไม่ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายในประเด็นที่ยังขาดให้ครบถ้วนและพิพากษาใหม่

Share