คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3406/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันในที่ดินพิพาทซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนชื่อทางทะเบียนให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้โอนให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เข้ารบกวนการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และขับไล่จำเลยที่ 2 ออกไป กับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลา 4 ปี9 เดือนเศษ โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทและขัดขวางจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ดังนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองก็เป็นผลต่อเนื่องในเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของใคร ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคำขออันไม่มีทุนทรัพย์แยกกันได้จากคำขอที่เป็นทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อออกจากที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 586หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนชื่อเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1ให้ขับไล่จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 586 เล่ม 6 ข.หน้า 36 เลขที่ 1 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างนายสด นามโท จำเลยที่ 1 กับนายจำเนียร ดอนมอญจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในกำหนด 30 วัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้ขับไล่จำเลยที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ โจทก์กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ร่วมกันในที่ดินพิพาท ซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 586 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2522 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนชื่อทางทะเบียนให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนชื่อเจ้าของที่ดินทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้โอนให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ได้เข้ารบกวนการครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อประมาณเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2530 เป็นการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และขับไล่จำเลยที่ 2ออกไปกับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเวลา 4 ปี 9 เดือนเศษโจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทและขัดขวางจำเลยที่ 2แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนและขับไล่ ดังนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนชื่อออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับให้จำเลยที่ 1 โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองก็เป็นผลต่อเนื่องในเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของใครเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีมีคำขออันไม่มีทุนทรัพย์แยกกันได้จากคำขอที่เป็นทุนทรัพย์ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 2 ปรากฏว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินแปลงอื่นอีก 1 แปลงในราคา 60,000 บาท คดีนี้จึงมีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขแล้ว ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนดหนึ่งปีจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องที่ดินพิพาทคืน ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าแย่งการครอบครองเมื่อเดือนสิงหาคม 2530 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดหนึ่งปีแล้วยังไม่ขาดอายุความนั้นเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสอง

Share