คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1175/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีมีอำนาจที่จะเอาตึกแถวซึ่งภริยาเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าได้เพราะสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินซึ่งสามีมีอำนาจจัดการได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะได้มีการเช่าช่วงระหว่างสามีภริยากันหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นสามีภริยากัน และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๔๔ ตำบลบ้านพานถม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร จำเลยได้เช่าตึกแถวเลขที่ ๑๗๔/๑ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ยกที่ดินที่ตึกแถวพิพาทตั้งอยู่ให้เป็นที่ราชพัสดุ แล้วกรมธนารักษ์ยอมให้โจทก์ที่ ๒ เช่าช่วงตึกแถวพิพาทและให้เช่าช่วงได้ ส่วนจำเลยก็ยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทตลอดมา เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จำเลยคงอยู่ต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกพิพาทต่อไป จึงได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลย จำเลยก็เพิกเฉยจึงขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ๑๕๐ บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๒ จนกว่าจำเลยจะออกไปจากตึกพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้เช่าตึกพิพาทจากโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวให้กรมธนารักษ์ไปแล้ว โจทก์ที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้เช่าตึกแถวจากโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ ไม่ได้ให้โจทก์ที่ ๑ เช่าห้องพิพาท โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย ตึกแถวพิพาทให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ ๗๐ บาทขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ ๑ ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ ๒ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอนุญาต
ในวันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับว่า จำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๒ ในอัตราค่าเช่าเดือนละ ๗๐ บาท ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ได้สิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากกรมธนารักษ์ในระหว่างบอกเลิกสัญญาและฟ้องจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากโจทก์ที่ ๑ เป็นสามีของโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจที่จะเอาตึกแถวพิพาทที่โจทก์ที่ ๒ ผู้เป็นภริยาเช่ามาให้จำเลยเช่าได้ เพราะสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินซึ่งสามีมีอำนาจจัดการได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๘ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้มีการเช่าช่วงระหว่างโจทก์ทั้งสามตามฟ้องหรือไม่ และการเช่าทรัพย์นั้นผู้ให้เช่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปจึงจะให้เช่าได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้เช่าทรัพย์จากโจทก์และได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าตามสัญญา ย่อมมีหน้าที่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ จำเลยจะกลับคัดค้านว่าผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิให้เช่าหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share