คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3392/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มและศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” ตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ระบุว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ 4 มกราคม 2544 และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2544 อ้างว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดและสาระสำคัญหลายเรื่องต้องใช้ความรอบคอบ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงโดยแจ้งชัดว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ 22 มกราคม 2544 ย่อมพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้แล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งให้นางสาว ร. เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖
เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ วงเงิน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ จำนวน ๑๗,๘๘๗,๐๒๔.๗๔ บาท การที่ผู้ทำแผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้ โดยถือเอาราคาประเมินเป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน (หนี้กลุ่ม ก.) และหนี้ไม่มีประกัน (หนี้กลุ่ม ข.) โดยคำนวณจากหนี้ทั้งหมดหักด้วยหนี้ที่มีประกัน (หนี้กลุ่ม ก.) หนี้ของเจ้าหนี้จำนวน ๑๗,๘๘๗,๐๒๔.๗๔ บาท แบ่งเป็นหนี้ที่มีประกันจำนวน ๗,๐๒๕,๐๐๐ บาท และหนี้ที่ไม่มีประกัน จำนวน ๑๐,๘๖๒,๐๒๔.๗๔ บาท ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียเปรียบในการจัดสรรตามสัดส่วนในการชำระหนี้ตามกระแสเงินสด วิธีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามที่ผู้ทำแผนจัดกลุ่มหนี้ที่มีประกันและหนี้ที่ไม่มีประกันดังกล่าวข้างต้นเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการโอนหลักทรัพย์ชำระหนี้เท่านั้น มิใช่เป็นเกณฑ์กำหนดจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ควรจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้มีประกัน (หนี้กลุ่ม ก.) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้เป็นหนี้ที่มีประกันทั้งหมด
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ในแผนหน้า ๒๕ เรื่อง แนวทางการชำระหนี้ได้กล่าวถึงวิธีการแยกหนี้มีประกัน (หนี้กลุ่ม ก.) ไว้ชัดเจนแล้วว่า “ถือเอาตามราคาประเมินทรัพย์สินที่เป็นประกันโดยใช้ราคาประเมินของผู้ประเมินอิสระ ๒ ราย ถัวเฉลี่ย…” โดยหนึ่งในบริษัทประเมินคือบริษัทเบล เซอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประเมินให้แก่เจ้าหนี้เดิมก่อนที่จะโอนสิทธิเรียกร้องมาเป็นของเจ้าหนี้ ดังนั้น การประเมินราคาจึงไม่ใช่เป็นไปเพื่อการโอนหลักประกันใช้หนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่ม ก. แต่ประการเดียว ในส่วนการโอนหลักประกันใช้หนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่ม ก. จะปรากฏรายละเอียดในตารางที่ ๓ ท้ายแผน ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้จึงถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ แล้ว ทั้งเจ้าหนี้หาได้ร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ต่อศาลภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ วรรคสอง การคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ล่วงเลยกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ขอศาลมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้และมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า ผู้ทำแผนได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น ๖ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของจำนวนหนี้ทั้งหมด กลุ่มที่ ๒ เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่ ๓ เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (สถาบันการเงิน) กลุ่มที่ ๔ เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (บริษัทในเครือบี.เอส.วี) กลุ่มที่ ๕ เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (เจ้าหนี้การค้า) กลุ่มที่ ๖ เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (กรมศุลกากรและกรมสรรพากร) ผู้ทำแผนได้แยกหนี้ออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ หนี้กลุ่ม ก. (หนี้มีประกัน) โดยถือเอาตามราคาประเมินทรัพย์สินที่เป็นประกัน โดยใช้ราคาประเมินถัวเฉลี่ยของผู้ประเมินอิสระ ๒ ราย ในกรณีที่หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ และใช้ราคาประเมินของผู้ประเมินอิสระ ๑ ราย ในกรณีที่หลักประกันไม่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หนี้กลุ่ม ข. (หนี้ไม่มีประกัน) คำนวณจากหนี้ของเจ้าหนี้หักด้วยหนี้กลุ่ม ก. (หนี้มีประกัน) สำหรับหลักประกันของเจ้าหนี้ผู้ประเมินอิสระ ๒ ราย ได้ประเมินราคาถัวเฉลี่ยไว้จำนวน ๗,๐๒๕,๐๐๐ บาท การคำนวณราคาหลักประกันชำระหนี้กลุ่ม ก. (หนี้มีประกัน) ของเจ้าหนี้ จึงเป็นเงินจำนวน ๗,๐๒๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเมื่อหักออกจากจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้แล้วหนี้กลุ่ม ข. (หนี้ไม่มีประกัน) จึงเป็นเงินจำนวน ๑๐,๘๖๒,๐๒๕ บาท
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าหนี้อุทธรณ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยแล้วว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้เพียงประการเดียวเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้อุทธรณ์สรุปเป็นใจความว่า เจ้าหนี้ไม่อาจคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ได้ทันเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งหมายนัดพร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม เจ้าหนี้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาแผน จึงขอเลื่อนการประชุม แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ให้เลื่อน เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๕๗ นอกจากนี้หากเจ้าหนี้ยื่นคำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในเรื่องการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ คำขอแก้ไขแผนดังกล่าวก็คงไม่ผ่านการพิจารณาลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้เพราะเจ้าหนี้มิได้มีคะแนนเสียงเพียงพอที่จะเป็นเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๒ (๓) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม
(๒) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (๑) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
(๓) เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
(๔) เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม”
สำหรับเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ในวงเงิน ๑๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามสัญญาจำนองที่ดินของลูกหนี้เป็นประกันรวม ๑๐ โฉนด รวมยอดหนี้ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ เป็นจำนวน ๑๗,๘๘๗,๐๒๔.๗๔ บาท ผู้ทำแผนจัดให้เจ้าหนี้อยู่ทั้งกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ ๒ และกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มที่ ๓ โดยแบ่งเป็นหนี้ที่มีประกัน จำนวน ๗,๐๒๕,๐๐๐ บาท และเป็นหนี้ที่ไม่มีประกัน จำนวน ๑๐,๘๖๒,๐๒๔.๗๔ บาท แต่เจ้าหนี้เห็นว่าผู้ทำแผนควรจัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันเพียงกลุ่มเดียว จึงไม่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔ และยื่นคำคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ โดยคัดค้านว่า เจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้เพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตาม มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ ดังนี้ คำคัดค้านของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๔๒ ทวิ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มหรือไม่นั้น ตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ระบุว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหมายแจ้งวันนัดประชุมเจ้าหนี้พร้อมแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางไปรษณีย์ตอบรับลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๔ และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๔ ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ ๔ วัน โดยให้เหตุผลว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดและสาระสำคัญหลายเรื่องซึ่งจะต้องมีผลและมีส่วนได้เสียต่อบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายรวมทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านด้วย การพิจารณาแผนจึงจำเป็นต้องใช้ความรอบคอบและระยะเวลาพอสมควรเพื่อประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้ แต่ในวันประชุมเจ้าหนี้เจ้าพนักงานพิทัษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ให้เลื่อนการประชุม เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้แล้ว การที่เจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการจึงแสดงโดยแจ้งชัดว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว หากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะคัดค้านเพราะเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ก็ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ถ้ามีพฤติการณ์พิเศษที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำร้องขอได้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ก็อาจขอขยายเวลาได้ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ แต่เจ้าหนี้ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ ย่อมพ้นกำหนดเวลาที่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจัดกลุ่มเสียใหม่ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ วรรคสอง ที่ศาลล้มละลายกลางไม่รับวินิจฉัยในปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้เพราะเห็นว่ามิได้เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีเป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๒๔ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ.

Share