คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3747/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) และมาตรา 339 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า การกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 199 เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) และมาตรา 339 วรรคท้าย จึงไม่ถูกต้อง
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) และมาตรา 339 วรรคท้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) ระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวจึงเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดตามมาตรา 339 วรรคท้าย ระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต จึงต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า ความผิดทั้งสองบท มีระวางโทษสูงสุดเท่ากัน จึงให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) (6) จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๙๙, ๒๘๙, ๓๓๙ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ระหว่างพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙, ๒๘๙ (๔) (๖), ๓๓๙ วรรคท้าย, ๘๓ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ แต่อัตราโทษตามมาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) กับมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย ต่างกำหนดระวางโทษสูงสุดเท่ากันจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) ให้ประหารชีวิต ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๑) คงจำคุกตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องนายมานิตย์ ดีอามาศ ผู้ตาย ถูกคนร้ายฆ่าแล้วคนร้ายใช้มีดหั่นศพ ส่วนแขน ขาและศีรษะนำไปใส่กระเป๋า ๒ ใบ แล้วนำใส่กล่องกระดาษ โบกปูนซีเมนต์เททับกระเป๋าและนำไปทิ้งในคลองวัดบางบัว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ชิ้นศพส่วนลำตัว และต้นขา ถูกคนร้ายนำใส่กระสอบข้าวสารไปทิ้งริมถนนสายวัดพระญาติ – บ้านเกาะ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วคนร้ายใช้น้ำมันจุดไฟเผาไหม้ไฟบางส่วนคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์เมื่อฟังประกอบกันแล้วมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อสะดวกแก่การชิงทรัพย์ และปกปิดความผิดโดยมีการหั่นทำลายศพอันเป็นการซ่อนเร้นเพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตายตามฟ้องโจทก์จริง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ ในความผิดฐานซ่อนเร้นศพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙ เป็นอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) และมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙ เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) และ มาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย จึงไม่ถูกต้อง ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) และมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) ระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว จึงเป็นบทมีโทษหนักกว่าความผิดตาม มาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย ระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต จึงต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่า ความผิดทั้งสองบท มีระวางโทษสูงสุดเท่ากันจึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) จึงไม่ถูกต้อง แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยไม่แก้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามา นอกจากนี้ ทรัพย์ของกลางนอกจากเศษกระสอบป่าน มีดปลายแหลม และรถยนต์ นั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ มีไว้เพื่อใช้หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้ริบไว้นั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙ อีกกระทงหนึ่ง และ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) และมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๖) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ อีกกระทงหนึ่ง และไม่ริบกางเกงขาสั้นไหม้ไฟสีขาวเขียวแดง ๑ ชิ้น เศษกางเกงชั้นใน ๑ ตัว ปากกาไส้ดินสอ ๑ ด้าม เศษผ้าขนหนูผืนเล็กไหม้ไฟ ๑ ชิ้น เศษเสื้อไหม้ไฟ ๑ ชิ้น เถ้าถ่าน เชื้อเพลิง ๑ กอง เศษวัสดุที่มีใยสังเคราะห์ ๑ กอง เศษเอกสารสัญญากู้ยืมไหม้ไฟ ๑ ชุด เศษเอกสารสัญญาขายฝาก ไหม้ไฟ ๑ ชุด ธนบัตรไทยชนิดต่าง ๆ จำนวน ๘,๔๕๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑

Share