คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3391/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยตั้งให้ทนายจำเลยมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ได้ เมื่อทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์และศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกมัดจำเลยไม่ให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยข้อยกเว้น จำเลยไม่ได้ยืนยันในอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่าโจทก์และทนายจำเลยกระทำการร่วมกันอันเป็นการฉ้อฉลจำเลย เพียงแต่อ้างว่าสืบทราบว่าโจทก์ให้เงินทนายจำเลย ทนายจำเลยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ เป็นการคาดคิดเอาเองของจำเลยฝ่ายเดียว ยังถือไม่ได้ว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และทนายจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 4119 โดยจำเลยทำประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกเมื่อเจ้าของที่ดินเดิมขายที่ดินส่วนที่ตนทำประโยชน์ให้โจทก์ จำเลยทำบันทึกรับว่าที่ดินส่วนของจำเลยอยู่ทางตะวันออกปลายสุดของโฉนด เมื่อแบ่งแยกโฉนดเป็นของจำเลยแล้ว จำเลยจะไม่คัดค้านต่อมาโจทก์มีหนังสือให้จำเลยไปจดทะเบียนรังวัดแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4119 ให้แก่โจทก์ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้จำเลยได้รับโฉนดใหม่ที่แบ่งแยก หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า จำเลยสำคัญผิดว่าที่ดินของจำเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ความจริงที่ดินของจำเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกบันทึกที่จำเลยทำเป็นโมฆะไม่ผูกพันจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยยินยอมไปจดทะเบียนรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 4119 ให้กับโจทก์ทั้งสองจนกว่าจะเสร็จสิ้นได้โฉนดใหม่ออกมาภายใน 1 เดือน นับแต่วันทำยอม โดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือโฉนดเดิมให้ได้เนื้อที่ 75 ไร่ 96 วา อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนที่เหลือทางทิศตะวันออกปลายสุดโฉนด ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของจำเลย ให้จำเลยได้รับโฉนดใหม่ที่แบ่งแยก ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความทนายจำเลยทำโดยไม่ปรึกษาจำเลย ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของจำเลยและมีการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยตั้งให้ทนายจำเลยมีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ได้ และทนายจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกมัดจำเลยไม่ให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 138(1)เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล คดีนี้จำเลยฎีกาอ้างว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้ให้เงินทนายจำเลยเพื่อให้ทำยอมกับโจทก์ตามความประสงค์ของโจทก์จึงเป็นการฉ้อฉลนั้น แต่ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยกล่าวแต่เพียงว่าจำเลยได้สืบทราบว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลร่วมกับทนายจำเลยโดยโจทก์ให้เงินทนายจำเลยแล้วให้ทนายจำเลยทำหนังสือสัญญาประนีประนอยอมความกับโจทก์ เพื่อให้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้จำเลยหาได้ยืนยันโดยชัดแจ้งไม่ว่าโจทก์และทนายจำเลยกระทำการร่วมกันอันเป็นการฉ้อฉลจำเลย เพียงแต่จำเลยสืบทราบว่าโจทก์ให้เงินทนายจำเลย ทนายจำเลยจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นการคาดคิดเอาเองของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยไม่ยืนยันอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไร้หลักฐานกรณียังถือไม่ได้ว่ามีการฉ้อฉลเกิดขึ้นในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และทนายจำเลย
พิพากษายืน.

Share