คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4012/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และรถคันที่จำเลยที่ 3 ขับได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 3 กับผู้ตายขับรถชนกันโดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยทั้งสามกับผู้ตายจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เจ้าของรถคันที่ผู้ตายขับซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเท่ากันแต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ฟ้องผู้ตายให้ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายด้วยจำเลยทั้งสามก็ควรจะรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงกึ่งหนึ่ง และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกชำระได้แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อุทธรณ์ฎีกาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1) ความรับผิดระหว่างจำเลยทั้งสามกับโจทก์ที่ 2 ภริยาของผู้ตาย โจทก์ที่ 3 บุตรของผู้ตายจึงต้องเป็นพับ กันไป

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษา
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๑ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ ซึ่งจำเลยที่ ๑ รับประกันภัยไว้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ไปตามถนนเพชรเกษมด้วยความประมาท เมื่อถึงกิโลเมตรที่ ๙๙-๑๐๐ ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นถนนทางโค้งมีทางรถไฟตัดผ่านกับถนนเพชรเกษมมีเครื่องกั้นและเครื่องให้สัญญาณปิดกั้นอยู่และรถไฟกำลังแล่นผ่าน พนักงานรถไฟได้ให้สัญญาณไฟและเสียง และนำแผงปิดกั้นรถยนต์ลงเพื่อกั้นมิให้รถยนต์แล่นผ่าน จำเลยที่ ๓ เห็นสัญญาณดังกล่าวแล้วไม่ได้ชะลอหรือหยุดรถเพื่อรอให้รถไฟแล่นผ่านไปก่อน ขับรถยนต์ด้วยความเร็วฉวัดเฉวียนหักหลบสัญญาณกั้นถนนเข้าไปในทางจราจรของรถที่แล่นสวนทางมาเพื่อให้พ้นเครื่องกั้นถนนเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหลักพุ่งเข้าชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. ๑๖๕๖๒ของโจทก์ที่ ๑ มีนายวิวัฒน์ มังคลรังษี สามีโจทก์ที่ ๒ และบิดาโจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ขับและรอสัญญาณรถไฟอยู่ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ เสียหาย นายวิวัฒน์ถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาทโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นายวิวัฒน์ มังคลรังษี ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. ๑๖๕๖๒ ด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอความเร็วและหยุดรถเมื่อถึงหัวเลี้ยวทางแยกซึ่งมีป้ายจราจรให้หยุดดูซ้ายขวาให้ปลอดภัยเสียก่อน เลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ ซึ่งวิ่งมาทางตรง จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตามจำเลยที่ ๑ จะรับผิดตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ในกรณีที่รถยนต์ดังกล่าวก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอกไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และต่อชีวิตร่างกายของบุคคลภายนอกครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสามฟ้องสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
สำนวนหลัง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ ๒ เป็นจำเลย โดยฟ้องว่า นายวิวัฒน์ มังคลรังษี สามีของโจทก์ที่ ๒ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. ๑๖๕๖๒ ด้วยความเร็วสูงและประมาทตัดหน้ารถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันดังกล่าวชนกัน รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕,๘๖๘ บาทและของจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๕๒,๕๐๐ บาท และขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้อง ของจำเลยที่ ๑เป็นเงิน ๓๖,๕๑๐ บาท ของจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๔,๙๓๗.๕๐ บาท ขอบังคับให้โจทก์ที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๖,๒๓๓.๑๐บาท จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๕๗,๔๓๗.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๕,๘๖๘ บาท และ ๕๒,๕๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ที่ ๒ ให้การว่า เหตุรถชนกันเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๓ ค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เรียกร้องสูงเกินสมคว
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทายาทของจำเลยที่ ๒ เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกส่วนสำนวนหลังศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ ๑ร่วมรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ รวมกัน๔๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีสำนวนที่สองให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่๑ เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. ๑๖๕๖๒ โจทก์ที่ ๒เป็นภริยาของนายวิวัฒน์ มังคลรังษี ผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ ๓ เป็นบุตรผู้ตายกับโจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว และเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๓ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ และเกิดชนกันกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. ๑๖๕๖๒ ซึ่งมีผู้ตายเป็นคนขับได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ ๑ ซ่อมรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. ๒๖๖๑๕ เป็นเงิน ๕,๘๖๘ บาท…
ในปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ ๑ เสียค่าซ่อมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนร.บ. ๑๖๕๖๒ จำนวนเท่าใดนั้น… ที่ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายรถของโจทก์ที่ ๑ มานั้นเหมาะสมแล้ว แต่เนื่องจากผู้ตายและจำเลยที่ ๓ประมาทด้วยกัน โจทก์ที่ ๑ เป็นบุคคลภายนอก ผู้ตายและจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ฟ้องผู้ตายให้ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายด้วย จำเลยก็ควรจะรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑เพียงกึ่งหนึ่ง ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๗๕,๐๐๐ บาท แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกชำระได้ แม้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่อุทธรณ์ฎีกาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕(๑) และเมื่อฟังว่าผู้ตายมีส่วนขับรถยนต์โดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ ๓ดังกล่าวแล้ว ความรับผิดระหว่างจำเลยทั้งสามกับโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓จึงต้องเป็นพับกันไป จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ในสำนวนแรกและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน๗๕,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share