คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์มีสาระสำคัญว่า ผู้เอาประกันมีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอ มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ และบันทึกปากคำผู้เอาประกันก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมิใช่หลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1(9).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำคำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์และบันทึกปากคำผู้เอาประกันซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับ แล้วจำเลยทั้งสองใช้จ้างวานผู้อื่นให้ฆ่าเพื่อเอาประกันและใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84,91, 264, 265, 268, 289 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบเอกสารสิทธิปลอมของกลางจำนวน 6 ฉบับ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ให้ลงโทษตามมาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 91ที่แก้ไขแล้วเรียงกระทงลงโทษสามกระทงให้จำคุกกระทงละ 5 ปีรวมจำคุก 15 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ริบเอกสารสิทธิปลอมของกลางจำนวน 6 ฉบับ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 264 รวมสามกระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับจำเลยที่ 2 คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นคงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า จำเลยที่ 1ร่วมกับผู้อื่นปลอมข้อความและลายมือชื่อนายพะยอม รักเขตต์ และนายสมพร สรเกตุ ในคำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์และบันทึกปากคำผู้เอาประกัน ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4, จ.6และ จ.7 รวม 6 ฉบับเพื่อให้บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารปลอมทั้ง 6 ฉบับไปยื่นต่อบริษัทดังกล่าวเพื่อขอทำกรมธรรม์ประกันชีวิตรวม 3 ฉบับ บริษัทดังกล่าวหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง จึงออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ตามเอกสารหมาย จ.13, จ.14 และป.จ.1 ทั้งนี้น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายพะยอม รักเขตต์นายสมพร สรเกตุ และบริษัทดังกล่าว คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4, จ.6 และ จ.7 เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำว่า “เอกสารสิทธิ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อเปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ เอกสารที่จำเลยที่ 1ปลอมและนำไปใช้ ซึ่งโจทก์ฎีกาขึ้นมาว่าเป็นเอกสารสิทธินั้นได้แก่คำขอเอาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์สงเคราะห์ตามเอกสารหมายจ.1, จ.2, และ จ.6 มีสาระสำคัญว่า นายพะยอม รักเขตต์ และนายสมพรสรเกตุ มีความประสงค์ที่จะเอาประกันชีวิตตามรายละเอียดที่ระบุไว้ในคำขอ มีลักษณะเป็นเพียงคำเสนอขอทำสัญญาประกันชีวิตเท่านั้นยังไม่แน่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะตกลงรับประกันหรือไม่ และบันทึกปากคำผู้เอาประกันตามเอกสารหมาย จ.3, จ.4 และ จ.7 ก็เป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้ขอเอาประกันชีวิตตอบคำถามตามที่บริษัทผู้รับประกันต้องการทราบในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตลอดจนรายละเอียดในการชำระเบี้ยประกัน เอกสารดังกล่าวมานี้มิใช่หลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงมิใช่เอกสารสิทธิดังที่โจทก์ฎีกา…”
พิพากษายืน

Share