คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งเจ็ดทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกันต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17, 91 และ 358 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 4, 6, 7, 8, 12, 51, 52, 54, 74 และ 108 กับให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งเจ็ดมีกำหนด 5 ปี
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา โจทก์แถลงขอนำสืบพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่บรรยายฟ้องไว้ และได้ส่งเอกสารประกอบรวมจำนวน 79 ฉบับ จำเลยทั้งเจ็ดแถลงรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอนำสืบพยานหลักฐานรวมทั้งเอกสารที่โจทก์ได้ส่งไว้ดังกล่าว แต่อ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดไม่เป็นความผิด เพราะจำเลยทั้งเจ็ดมีสิทธิต่อต้านการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจำเลยทั้งเจ็ดเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และขอส่งสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 กับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 607-608/2549 โดยไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานแต่โจทก์แถลงขอสืบพยานหลักฐานตามบัญชีระบุพยานของโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งเจ็ดรับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องครบถ้วนแล้ว จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 9 รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 9 ผู้ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำฟ้องและคำแถลงรับของจำเลยทั้งเจ็ดว่า ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป และปรากฏว่าในเขตเลือกตั้งที่ 6 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เขตเลือกตั้งที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และเขตเลือกตั้งที่ 1 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงเขตละคนเดียว และในการเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละเขตดังกล่าวได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการเลือกตั้งจึงประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวใหม่ในวันที่ 23 เมษายน 2549 และในวันเลือกตั้งใหม่นี้ จำเลยทั้งเจ็ดได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วจำเลยทั้งเจ็ดต่างฉีกบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนละ 1 ใบ ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งกรรมหนึ่ง และฐานทำให้เสียทรัพย์อีกกรรมหนึ่ง นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำการในคราวเดียวด้วยเจตนาเดียวที่จะทำลายบัตรเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียว แต่การกระทำดังกล่าวแม้จะกระทำในคราวเดียววาระเดียวกัน ต้องด้วยองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และเป็นความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ก็ตาม แต่เมื่อความผิดฐานทำลายบัตรเลือกตั้งเป็นความผิดเฉพาะตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่บัญญัติใช้เป็นพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่จำต้องปรับบทความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปอีก ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของโจทก์ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ให้จำคุก คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งเจ็ดมีกำหนด 5 ปี

Share