คำวินิจฉัยที่ 112/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ขอออกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันแจ้งข้อความเท็จเป็นเหตุให้นายอำเภอ จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. ทับซ้อนที่ดินบางส่วนของโจทก์ และออกเป็นโฉนดที่ดิน จากนั้นได้ขายที่ดินให้ อ. และต่อมาขายให้จำเลยที่ ๕ ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดิน ให้จำเลยที่ ๕ พร้อมบริวารออกจากที่ดิน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า น.ส. ๓ ก. และโฉนดออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๔ ให้การว่า การออก น.ส. ๓ ก. ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๕ ให้การและฟ้องแย้งว่า มีสิทธิครอบครองที่ดิน หากฟังว่าที่ดินทับซ้อนที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดแจ้งเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนมาเป็นชื่อจำเลยที่ ๕ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามฟ้องแย้ง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ พร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์และให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำหรับประเด็นตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๕ เป็นเรื่องเอกชนขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๒/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดฝาง
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฝางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ บริษัทไซแอม โทแบคโค เอกซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอฝาง ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ที่ ๓ นายเมฆ วงค์สูน ที่ ๔ นางสาวนงคราญ กันธะนงค์ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฝาง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๒๓/๒๕๕๔ ความว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ) เลขที่ ๘๒๙ ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน แต่ปรากฏว่าได้ถูกจำเลยที่ ๔ ขอออก น.ส. ๓ ก. โดยแจ้งข้อความเท็จเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ โดยประมาทเลินเล่อทับซ้อนที่ดินบางส่วนของโจทก์ และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ โดยจำเลยที่ ๓ ลงนามในโฉนดที่ดิน จากนั้นจำเลยที่ ๔ ขายที่ดินให้นายอวยชัย บุญขันธ์ และนายอวยชัยจำนองที่ดินกับธนาคาร จนถูกสำนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาด โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ซื้อได้ และขายให้จำเลยที่ ๕ เมื่อจำเลยที่ ๔ ไม่มีสิทธิและได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ มาโดยมิชอบ นายอวยชัยและจำเลยที่ ๕ ย่อมไม่มีสิทธิเช่นกัน โจทก์ในฐานะเจ้าของสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืน การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทำลายเพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนและสารบบที่ดิน ให้จำเลยที่ ๕ พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๑และที่ ๓ เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน และโจทก์ยังไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ และจำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ โดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ประมาทเลินเล่อ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่มีคำขอบังคับจำเลยที่ ๒ และคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินในช่วงที่บิดาของจำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๔ ครอบครองทำประโยชน์ และโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ทับที่ดินของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ จำเลยที่ ๔ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่บิดาของจำเลยที่ ๔ แย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ และจำเลยที่ ๔ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องไม่ขาดตอนมาโดยตลอด จำเลยที่ ๔ มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๕ จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้องและหากฟังว่าที่ดินของจำเลยที่ ๕ ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดแจ้งเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนมาเป็นชื่อจำเลยที่ ๕ และห้ามโจทก์และบริวารรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ ๕
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามฟ้องแย้ง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฝางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองที่ออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ และบริวารออกจากที่ดินพิพาทต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน อันเป็นสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์โต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินว่า ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ ให้แก่บุคคลอื่นทับซ้อนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ของโจทก์โดยไม่ชอบ และการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดิน รวมถึงการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนและจำหน่าย น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนและสารบบที่ดินนั้น กรณีเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) นอกจากนี้ การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งออกเอกสารสิทธิดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิเสมอไป เพราะเหตุที่ใช้อ้างในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองมีหลายประการ ประกอบกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินเท่านั้น มิใช่ผู้ทรงสิทธิในที่ดิน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชนอันเป็นสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชน โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาขอออก โฉนดที่ดิน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๔ ได้นำที่ดินดังกล่าวบางส่วนไปขอออก น.ส. ๓ ก. แล้ว โดยแจ้งข้อความเท็จเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ โดยประมาทเลินเล่อทับซ้อนที่ดินบางส่วนของโจทก์และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ จากนั้นจำเลยที่ ๔ ขายที่ดินให้นายอวยชัย และนายอวยชัยจำนองที่ดินกับธนาคาร จนถูกยึดออกขายทอดตลาด โดยผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้ขายให้จำเลยที่ ๕ ดังนั้นจำเลยที่ ๔ นายอวยชัยและจำเลยที่ ๕ จึงไม่มีสิทธิในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทำลายเพิกถอน น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนและสารบบที่ดิน ให้จำเลยที่ ๕ พร้อมบริวารออกจากที่ดิน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๓ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์และโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๑๙๐ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๕ ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่บิดาของจำเลยที่ ๔ แย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ และจำเลยที่ ๔ ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องไม่ขาดตอนมาโดยตลอด จำเลยที่ ๔ มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๕ จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบเช่นเดียวกัน และหากฟังว่าที่ดินของจำเลยที่ ๕ ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับโจทก์จดแจ้งเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนมาเป็นชื่อจำเลยที่ ๕ และห้ามโจทก์และบริวารรบกวนการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ ๕ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบและไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามฟ้องแย้ง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๕ พร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์และให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกเป็นชื่อบุคคลอื่น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำหรับประเด็นตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๕ เป็นเรื่องเอกชนขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทไซแอม โทแบคโค เอกซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอฝาง ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ที่ ๓ นายเมฆ วงค์สูน ที่ ๔ นางสาวนงคราญ กันธะนงค์ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share