แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๕๐๕ และเลขที่ ๒๖๕ แต่ถูก ศ. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้นายอำเภอ จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ ให้แก่ ศ. ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ เมื่อ ศ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ทายาทของ ศ. นำ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ ขอออกเป็นโฉนดที่ดินและยินยอมให้จำเลยที่ ๕ ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดิน ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดิน ให้กรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๓ จำหน่าย น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดินออกจากทะเบียนและสารบบที่ดิน และขับไล่ออกจากที่ดิน ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินและการจดทะเบียนให้ถือกรรมสิทธิ์รวม และพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมิใช่ ศ. หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๑/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดฝาง
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฝางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ บริษัทไซแอม โทแบคโค เอกซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอฝาง ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ที่ ๓ นายสมจิตร์ นันทการณ์ ที่ ๔ นางนิลุบล โกมลวิภาต ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฝาง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๒๒/๒๕๕๔ ความว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ) เลขที่ ๕๐๕ เลขที่ ๒๖๕ และเลขที่ ๘๒๙ ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๕๐๕ และเลขที่ ๒๖๕ แต่ปรากฏว่าได้ถูกนายศรีบุศย์ นันทการณ์ ขณะเป็นลูกจ้างของโจทก์นำที่ดินดังกล่าวไปขอออก น.ส. ๓ ก. ในนามตนเอง โดยแจ้งข้อความเท็จเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ โดยประมาทเลินเล่อทับซ้อนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ เมื่อนายศรีบุศย์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ทายาทจดทะเบียนรับโอนมรดกและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ โดยจำเลยที่ ๓ ลงนามในโฉนดที่ดิน นอกจากนั้น จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนของ น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ของโจทก์ และจำเลยที่ ๔ ยินยอมให้จำเลยที่ ๕ ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒เมื่อนายศรีบุศย์ไม่มีสิทธิและได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ มาโดยมิชอบ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ย่อมไม่มีสิทธิเช่นกัน โจทก์ในฐานะเจ้าของสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืน การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จำหน่าย น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนและสารบบที่ดินให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียน รับโอนมรดกที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๕ เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม ให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และจำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ โดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ประมาทเลินเล่อ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่มีคำขอบังคับจำเลยที่ ๒ และคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ จริง หรือหากครอบครองและทำประโยชน์อยู่จริงก็ไม่ใช่ที่ดินแปลงดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใด ที่ดินแปลงพิพาทได้มีการพิสูจน์สิทธิและทำประโยชน์ต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่นายศรีบุศย์จนถึงจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งสิทธิดังกล่าว จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะได้ที่ดินมาจากนายศรีบุศย์บิดา ซึ่งได้ที่ดินมาโดยการก่นสร้างมากว่า ๓๐ ปี และครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาโดยตลอด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฝางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองที่ออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งออกเอกสารสิทธิดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน อันเป็นสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์โต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินว่า ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ ให้แก่บุคคลอื่นทับซ้อนที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๕๐๕ และเลขที่ ๒๖๕ ของโจทก์โดยไม่ชอบ และการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดิน รวมถึงการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนและจำหน่าย น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนและสารบบที่ดินนั้น กรณีเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) นอกจากนี้ การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งออกเอกสารสิทธิดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิเสมอไป เพราะเหตุที่ใช้อ้างในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองมีหลายประการ ประกอบกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินเท่านั้น มิใช่ผู้ทรงสิทธิในที่ดิน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน อันเป็นสิทธิ ในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม สำหรับกรณีตามคำฟ้องในส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๔ ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินส่วนหนึ่งของ น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ของโจทก์ และยังได้ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ ๕ เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาท รวมทั้งให้จำเลยที่ ๕ เข้าทำประโยชน์ในที่ดินส่วนหนึ่งของ น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดิน ให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในเรื่องการออก น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินดังกล่าว จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชน โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๕๐๕ เลขที่ ๒๖๕ และเลขที่ ๘๒๙ ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาขอออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๕๐๕ และเลขที่ ๒๖๕ แต่ปรากฏว่านายศรีบุศย์ นันทการณ์ ลูกจ้างของโจทก์ได้นำที่ดินดังกล่าวไปขอออก น.ส. ๓ ก. ในนามตนเองไปแล้ว โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ โดยประมาทเลินเล่อทับซ้อนที่ดินของโจทก์ เมื่อนายศรีบุศย์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ ทายาทรับโอนมรดกในที่ดินและขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ นอกจากนั้น จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๕ เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนของ น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ของโจทก์ และจำเลยที่ ๔ ยินยอมให้จำเลยที่ ๕ ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ นายศรีบุศย์และจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่มีสิทธิในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ ขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จำหน่าย น.ส. ๓ ก. และโฉนดที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนและสารบบที่ดิน ให้ขับไล่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๕ เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม และพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๙๘๒ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๘๑๐ เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการที่หน่วยงานทางปกครองออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท มิใช่นายศรีบุศย์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ และในการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินระหว่างเอกชนด้วยกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม สำหรับประเด็นที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ออกจากที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๘๒๙ ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิของหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทไซแอม โทแบคโค เอกซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายอำเภอฝาง ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง ที่ ๓ นายสมจิตร์ นันทการณ์ ที่ ๔ นางนิลุบล โกมลวิภาต ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ