คำวินิจฉัยที่ 110/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง น.ส. ๓ แต่ถูกจำเลยมอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านกำหนดเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะ “หนองแขม” ว่าอยู่ในที่ดิน น.ส. ๓ ของโจทก์ และจำเลยยังคัดค้านการออกโฉนดที่ดิน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเปลี่ยน น.ส. ๓ เป็นโฉนดที่ดินได้ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้ถอนเสาที่นำไปปักไว้ในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาท เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้ประเด็นข้อพิพาทจะเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แต่โจทก์ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลย และโดยเฉพาะขอให้บังคับจำเลยถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๐/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพิษณุโลกส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ นางพนิดา ถึงหมื่นไวย์ โจทก์ ยื่นฟ้องนายอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จำเลย ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๖๙/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๓๕ ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๗๖ ตารางวา แต่จำเลยมอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านกำหนดเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะ “หนองแขม” ว่าอยู่ในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๓๕ ของโจทก์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ ๔ ไร่ โดยได้นำเสาไปปักไว้ว่าเป็นที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขม และจำเลยยังคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเปลี่ยน น.ส. ๓ เป็นโฉนดที่ดินได้ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์ และเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้ถอนเสาที่นำไปปักไว้ในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ “หนองแขม” เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ราษฎรในหมู่บ้านได้กันที่ดินพิพาทไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์และใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๓๕ เจ้าของเดิมได้แจ้งการครอบครอง รวมเนื้อที่ดินพิพาทหนองน้ำสาธารณประโยชน์หนองแขม ประมาณ ๔ ไร่ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ออก น.ส. ๓ เลขที่ ๓๕ ให้โดยไม่ทราบเรื่อง เมื่อที่ดินตาม น.ส. ๓ ดังกล่าวตกแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรม โจทก์ยื่นคำขอรังวัดที่ดินเพื่อขอออกโฉนด จำเลยจึงยื่นคัดค้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่พิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ การจะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย่อมต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือไม่ และการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ และประมวลกฎหมายที่ดิน โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินจึงได้แก่ศาลยุติธรรม ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่จำเลยมอบให้ผู้ใหญ่บ้านทำการกำหนดเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขมและปักเสาแสดงเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขม รวมถึงการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการใช้อำนาจและปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยจำเลยมิได้อยู่ในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งมิใช่คดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ส่วนการที่คดีมีประเด็นต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๓๐๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่นั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นย่อยที่จะต้องพิจารณาว่าการกำหนดเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขมและปักเสาแสดงเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขม รวมถึงการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และคำขอให้ถอนเสาที่นำไปปักไว้ในที่ดิน เป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการได้หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใดได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ แต่ถูกจำเลยมอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านกำหนดเขตที่ดินหนองน้ำสาธารณะ “หนองแขม” ว่าอยู่ในที่ดิน น.ส. ๓ ของโจทก์ โดยได้นำเสาไปปักไว้ว่าเป็นที่ดินหนองน้ำสาธารณะหนองแขม และจำเลยยังคัดค้านการออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเปลี่ยน น.ส. ๓ เป็นโฉนดที่ดินได้ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ให้ถอนเสาที่นำไปปักไว้ในที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ “หนองแขม” เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์เจ้าของเดิมได้แจ้งการครอบครองโดยรวมเอาที่ดินพิพาทหนองน้ำสาธารณประโยชน์หนองแขมเข้าไว้ด้วย ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ออก น.ส. ๓ ให้โดยไม่ทราบเรื่อง เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน จำเลยจึงยื่นคำร้องคัดค้าน การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้แม้ประเด็นข้อพิพาทจะเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แต่โจทก์ก็ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลย และโดยเฉพาะขอให้บังคับจำเลยถอนคำร้องคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ซึ่งการที่จำเลยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินก็เป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินตาม น.ส. ๓ ของโจทก์ในการที่จะขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินให้ได้ กรณีนี้แม้จำเลยผู้คัดค้านจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ดูแลรักษาที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิใช่เอกชนผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน แต่ในการออกโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นเอกชนหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ ก็จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพนิดา ถึงหมื่นไวย์ โจทก์ นายอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share