คำวินิจฉัยที่ 109/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคใต้) จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองโดยเช่าที่มาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ย้ายเสาไฟฟ้าที่รุกล้ำออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้เช่าที่พิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อปักเสาและพาดสายไฟฟ้า โดยผู้ฟ้องคดีไม่เคยโต้แย้ง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่าที่ดินที่ต่างทำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่าการปักเสาพาดสายไฟฟ้าอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะทำสัญญาเช่า เมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดๆ หรือปักหรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีตามฟ้องจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้อื่น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๙/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนาทวี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ บริษัทศิริพัฒนสินทรัพย์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคใต้) จังหวัดยะลา ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๑/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณย่านสถานีคลองแงะ ตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อปลูกสร้างอาคารและจัดสรรประโยชน์มีกำหนด ๒๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ ในปี ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีพบว่ามีการปักเสาและพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดิน จำนวน ๔ ต้น จึงแจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคลองแงะ แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่มีการดำเนินการใดๆ ในปี ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคลองแงะเพื่อขอให้ย้ายเสาไฟฟ้าดังกล่าว และในปี ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือชี้แจงว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปักเสาพาดสายไฟฟ้ามีกำหนด ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังมีการปักเสาและพาดสายไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ย้ายเสาไฟฟ้าที่รุกล้ำดังกล่าวหลายครั้ง โดยขอให้ดำเนินการย้ายเสาไฟฟ้าเพียง ๑ ต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาพาดสายไฟฟ้าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยและละเลยหรือล่าช้าในการตอบข้อเรียกร้องของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหายและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีย้ายเสาไฟฟ้าที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ได้เช่าที่พิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดระยะเวลา ๓ ปี เพื่อปักเสาและพาดสายไฟฟ้าข้ามทางรถไฟบริเวณย่านสถานีคลองแงะ ซึ่งอยู่บริเวณหน้าที่ทำการของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ทราบว่าที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดี จึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ ซึ่งผู้ฟ้องคดีย่อมรับรู้และควรจะได้โต้แย้งสิทธิในขณะนั้น แต่กลับเพิกเฉย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นเรื่องโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์โครงการจัดประโยชน์บริเวณย่านสถานีคลองแงะ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการส่วนตัวของผู้ฟ้องคดี มิได้เป็นการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ และผู้ถูกฟ้องคดีมิได้เป็นคู่สัญญาทางปกครองกับผู้ฟ้องคดี จึงเป็นข้อพิพาทในทางแพ่ง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าตามมาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๗ รวมทั้งมีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคลใดๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือนตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทำการปักเสาและพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ทำให้สิทธิในการใช้ที่ดินเสียหายและส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ฟ้องคดี ขอให้ย้ายเสาไฟฟ้าที่รุกล้ำดังกล่าวออกไปจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนาทวีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณย่านสถานีคลองแงะ เพื่อปลูกสร้างอาคารและจัดประโยชน์จากอาคารที่ก่อสร้าง และอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาไฟฟ้า ๔ ต้น รุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ครอบครอง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ทราบว่าที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ตามสัญญาเช่าที่ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละฝ่ายทำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ใดมีสิทธิในที่พิพาท แล้วจึงพิจารณาว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินตามสัญญาเช่า อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีผู้ถูกฟ้องคดีปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณย่านสถานีคลองแงะ เพื่อปลูกสร้างอาคารและจัดสรรประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีย้ายเสาไฟฟ้าหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีย้ายเสาไฟฟ้าที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิด เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้เช่าที่พิพาทจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อปักเสาและพาดสายไฟฟ้า โดยผู้ฟ้องคดีไม่เคยโต้แย้ง เห็นว่า แม้คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่าที่ดินที่ต่างทำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่าการปักเสาพาดสายไฟฟ้าอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจในการเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดๆ หรือปักหรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีตามฟ้องจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้อื่น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทศิริพัฒนสินทรัพย์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคใต้) จังหวัดยะลา ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share