คำวินิจฉัยที่ 108/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๔ ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๐๑ และเลขที่ ๑๙๑๑ โดยมีแนวเขตติดต่อกันบางส่วน เมื่อจำเลยขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ได้ชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณีแล้วมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๖๐ วัน โดยไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ทั้งเจ็ด อันเป็นการกระทำละเมิด ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ และให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ด กับให้จำเลยไปลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำชี้ไว้ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากที่พิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด และอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยพิพาทกันเรื่องสิทธิในที่พิพาทอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณีแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งไม่พอใจการสั่งการของเจ้าพนักงานที่ดินจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ วรรคสอง โดยเจ้าพนักงานที่ดินต้องรอเรื่องไว้ จนศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใด จึงดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๖๐ วรรคสาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันที่โต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๘/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแขวงอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงอุบลราชธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายเศรษฐพงษ์ จตุรงคสัมฤทธิ์ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์ ยื่นฟ้องพลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาศาลมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงอุบลราชธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๐๔/๒๕๕๓ ความว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของและเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๔ ตำบลท่าช้าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก.เลขที่ ๔๐๐๑ และเลขที่ ๑๙๑๑ โดยที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยมีแนวเขตติดต่อกันบางส่วน ต่อมาจำเลยยื่นขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง โดยนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๔๓ ตารางวา โจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ สอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณีแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๖๐ วัน โดยไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ทั้งเจ็ด อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ให้ที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด กับให้จำเลยไปลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำชี้ไว้ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากที่พิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด และอยู่ในเขต น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๔ ของจำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแขวงอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดระบุว่าจำเลยนำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้านการนำชี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ แต่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยตามการนำชี้ของจำเลย แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดิน อันเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดยังมีคำขอให้ที่ดินบางส่วนตามการนำชี้ของจำเลยเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด การโต้แย้งคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นเพียงการโต้แย้งเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งเจ็ดจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดหรือของจำเลย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ออกคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง แสดงว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจเรียกเจ้าพนักงานที่ดินเข้ามาเป็นคู่กรณีได้ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า คำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจะมีคำขอให้ที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลย แต่เมื่อคดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองแล้ว ศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันเป็นประเด็นข้อเท็จจริงหนึ่งในคดีได้ และเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยในชั้นการพิจารณาเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ศาลปกครองก็นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) ยังบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๔ ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๔๐๐๑ และเลขที่ ๑๙๑๑ โดยมีแนวเขตติดต่อกันบางส่วน เมื่อจำเลยขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด และโจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้านแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณีแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และแจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๖๐ วัน โดยไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ทั้งเจ็ด อันเป็นการกระทำละเมิด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ และให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ด กับให้จำเลยไปลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดนำชี้ไว้ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากที่พิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด และอยู่ในเขต น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๔ ของจำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยพิพาทกันเรื่องสิทธิในที่พิพาทอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบคู่กรณีแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งไม่พอใจการสั่งการของเจ้าพนักงานที่ดินจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ วรรคสอง โดยเจ้าพนักงานที่ดินต้องรอเรื่องไว้ จนศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใด จึงดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๖๐ วรรคสาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันที่โต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเศรษฐพงษ์ จตุรงคสัมฤทธิ์ ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์ พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share