คำวินิจฉัยที่ 107/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่ ๒ โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ จงใจมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติราชการอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยตามที่มีข้อร้องเรียนเรื่องทุจริต แต่ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้บังคับบัญชามีหนังสือตักเตือนจำเลยที่ ๑ พร้อมทั้งแจ้งโจทก์ว่าการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ แล้วจำเลยที่ ๑ ยังนำเรื่องตามที่อ้างในการออกคำสั่งไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และจงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายด้วยวาจาและด้วยเอกสารว่าโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทำผิดวินัยร้ายแรง อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินค่าเสียหายเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญในการประกอบอาชีพของโจทก์กรณีที่จำเลยที่ ๑ จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการออกคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติราชการทั้งที่ไม่มีอำนาจ แล้วนำเรื่องตามที่อ้างในการออกคำสั่งไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ทั้งยังจงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายด้วยวาจาและด้วยเอกสารเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นเรื่องความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่ความรับผิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครอง โดยที่ประเด็นเรื่องคำสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการนั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำฟ้องโจทก์ แล้วว่าได้ถูกยกเลิกเนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ จึงไม่มีประเด็นที่จะตรวจสอบเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวอีก ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครอง แต่เป็นคดีแพ่งอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)

ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ นางเพ็ญศิริ ม่วงเมือง โจทก์ ยื่นฟ้องนายพสิษฐ์ แป้นเหมือน ที่ ๑ กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ ๑๖๑๗/๒๕๕๔ หมายเลขแดงที่ พ ๓๕๖/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลสำโรงใต้ สังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นสาธารณสุขอำเภอพระประแดง เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๑ จงใจมีคำสั่งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระประแดงที่ ๑๐/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติราชการด้านสาธารณสุขทั่วไปเป็นการชั่วคราวที่สถานีอนามัยตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยข้าราชการตามที่มีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของโจทก์ กรณีปลอมแปลงเอกสารราชการด้วยการปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ตรวจรับพัสดุ และปลอมแปลงใบสำคัญรับเงินของร้านค้า รวมทั้งร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยผู้บังคับบัญชาได้มีหนังสือว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ ๑ พร้อมทั้งแจ้งโจทก์ว่า การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้รับคำสั่งไม่ต้องปฏิบัติตาม หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ จงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายด้วยวาจาและด้วยเอกสารกับข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลทั่วไปให้เข้าใจผิดว่าโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทำการปลอมเอกสาร ทำผิดวินัยร้ายแรง อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ต้นสังกัดของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เป็นการใช้อำนาจบริหารราชการ และการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ทางราชการตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ มิได้กลั่นแกล้งโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เป็นการปฏิบัติราชการปกติภายในหน่วยงานของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้มีการกล่าวอ้างต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ ๒ ไม่เคยอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เผยแพร่คำสั่งแก่บุคคลทั่วไป และไม่เคยกระทำการใดเพื่อจงใจใส่ความโจทก์ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบการกระทำของโจทก์ตามที่ถูกกล่าวหา จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพระประแดงโดยอ้างว่า โจทก์กระทำผิดวินัยและให้โจทก์ไปช่วยราชการชั่วคราวที่สถานีอนามัยบางหัวเสือ ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือแจ้งว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตาม และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้จงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงกับข้าราชการ ลูกจ้าง และบุคคลทั่วไปว่าโจทก์ถูกร้องเรียน เนื่องจากมีพฤติกรรมปลอมเอกสาร ทำผิดวินัยร้ายแรง จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งสืบเนื่องจากการใช้อำนาจออกคำสั่ง หาใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหาใช่การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยราชการ โดยอ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยข้าราชการ เนื่องจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของโจทก์ที่ปลอมแปลงเอกสารราชการ ปลอมลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ การใช้อำนาจของจำเลยที่ ๑ ที่ออกคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยราชการที่สถานีอนามัยตำบลบางหัวเสือ เป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองอันมีลักษณะเป็นข้อพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการที่โจทก์กล่างอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ได้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์อันเป็นเหตุให้มีการออกคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยราชการชั่วคราว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วยนั้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้จำเลยที่ ๑ จะได้ยกเลิกคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยราชการชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวเพื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามที่อ้างหรือไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๒/๒๕๕๔

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๑ จงใจมีคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติราชการที่สถานีอนามัยตำบลบางหัวเสือ โดยระบุอ้างในคำสั่งว่าโจทก์กระทำผิดวินัยข้าราชการตามที่มีข้อร้องเรียนเรื่องทุจริต แต่ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้บังคับบัญชามีหนังสือว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ ๑ พร้อมทั้งแจ้งโจทก์ว่าการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ และในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ด้วย จากนั้นจำเลยที่ ๑ จงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายด้วยวาจาและด้วยเอกสารว่าโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทำผิดวินัยร้ายแรง อันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินค่าเสียหายเพื่อความเสียหายที่เกิดแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญในการประกอบอาชีพของโจทก์ กรณีที่จำเลยที่ ๑ จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการออกคำสั่งให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติราชการทั้งที่ไม่มีอำนาจ แล้วนำเรื่องตามที่อ้างในการออกคำสั่งไปร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ ทั้งยังจงใจกล่าวและไขข่าวแพร่หลายด้วยวาจาและด้วยเอกสารเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นเรื่องความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่ความรับผิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครอง โดยที่ประเด็นเรื่องคำสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการนั้น ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำฟ้องโจทก์ แล้วว่าได้ถูกยกเลิกเนื่องจากเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ จึงไม่มีประเด็นที่จะตรวจสอบเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวอีก ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีแพ่งอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางเพ็ญศิริ ม่วงเมือง โจทก์ นายพสิษฐ์ แป้นเหมือน ที่ ๑ กระทรวงสาธารณสุข ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share