คำวินิจฉัยที่ 105/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้ององค์การคลังสินค้าซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังและมีประเด็นต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การว่าจำเลยเคยยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแขวงดุสิตซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ส่งมอบมันสำปะหลังแปรรูปให้จำเลยไม่ครบตามสัญญาฉบับเดียวกันนี้ จนศาลยุติธรรมมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๕/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๔ นายสมชาย ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การคลังสินค้า จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๑๔๗๔/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๐ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เพื่อแปรสภาพมันสำปะหลัง โดยจำเลยมีหน้าที่ส่งมอบมันสำปะหลังสดที่จำเลยรับซื้อจากเกษตรกรให้โจทก์นำไปแปรสภาพเป็นมันสำปะหลังเส้น ณ ลานมันของโจทก์ในอัตราส่วนมันสำปะหลังสด ๒.๖ กิโลกรัม แปรสภาพเป็นมันสำปะหลังเส้น ๑ กิโลกรัม ต่อมาโจทก์แปรสภาพมันสำปะหลังสดจำนวน ๙,๓๗๓,๑๐๗ กิโลกรัม และส่งมอบมันสำปะหลังเส้นให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่มีสถานที่เก็บรักษาจึงฝากไว้ที่โกดังและลานตากมันของโจทก์เพื่อรอการขาย หลังจากนั้นได้มีพายุฝนพัดโกดังและลานตากมันทำให้มันสำปะหลังแปรรูปได้รับความเสียหาย โจทก์จึงส่งมอบมันสำปะหลังแปรรูปให้จำเลยได้ไม่ครบซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่เป็นเพราะภัยธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ที่ศาลแขวงดุสิตขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ส่งมอบมันสำปะหลังแปรรูปไม่ครบพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน ๗๔,๖๘๖.๗๕ บาท โดยจำเลยนำเงินค่าจ้างที่โจทก์จะได้รับทั้งหมดหักกับค่าเสียหายที่โจทก์ส่งมอบมันสำปะหลังแปรรูปให้จำเลยไม่ครบคำนวณเป็นค่าเสียหายดังกล่าว แต่ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด โจทก์จึงทวงถามเงินค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังแปรรูปที่โจทก์หักเป็นค่าเสียหายไว้เป็นเงิน ๒๓๓,๙๒๐.๙๐ บาท แต่จำเลยปฏิเสธโดยแจ้งว่าได้หักเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าจ้างให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยรวม ๔๘๑,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าจ้างตามสัญญาแปรสภาพมันสำปะหลังระหว่างโจทก์และจำเลยเพราะศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว ค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังที่โจทก์เรียกร้องเป็นหนี้ที่จำเลยได้นำไปหักกลบลบหนี้ในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องโจทก์ที่ศาลแขวงดุสิตแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตว่าเหตุการณ์ที่ทำให้มันสำปะหลังเส้นได้รับความเสียหายเกิดจากพายุฝนซึ่งเป็นเหตุวิสัย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังให้แก่โจทก์ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาแปรสภาพมันสำปะหลังระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการดำเนินการตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปี ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรและกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะด้านเศรษฐกิจ สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เข้าร่วมบริการสาธารณะอันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรก็ตาม แต่เนื้อหาของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้แปรรูปมันสำปะหลังคงเป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะนั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน อันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๘ มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค และให้มีอำนาจรวมถึงการกระทำการเพื่อส่งเสริมการผลิต ตลอดจนกิจการค้าสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคของคนไทย ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งการที่กฎหมายบัญญัติให้จำเลยมีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขายสินค้าไม่ได้ในราคาที่สมควรหรือหาตลาดจำหน่ายไม่ได้ และช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ต้องซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาแพง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ การที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนให้ดำเนินการซื้อ-รับมอบหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่จำเลยได้รับซื้อไว้ที่หน่วยจัดซื้อมันสำปะหลังสดของจำเลยตามโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปี ๒๕๔๐ และให้โจทก์นำไปโม่แปรสภาพเป็นมันเส้น ณ ลานมันของโจทก์แล้วส่งมอบให้แก่จำเลย จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะในการพยุงและยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังตามโครงการดังกล่าว อันเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังซึ่งถือเป็นผู้ผลิตสินค้าให้สามารถขายสินค้าของตนเองได้ในราคาที่สมควร ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งจำเลยบรรลุผล สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังให้แก่โจทก์ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลังและมีประเด็นต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การว่าจำเลยเคย ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแขวงดุสิตซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ส่งมอบมันสำปะหลังแปรรูปให้จำเลยไม่ครบตามสัญญาฉบับเดียวกันนี้ จนศาลยุติธรรมมีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาในศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสมชาย ตั้งวิบูลย์พาณิชย์ โจทก์ องค์การคลังสินค้า จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share