แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องบริษัท ทศท คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) จำเลย อ้างว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญากรณีจ้างโจทก์ผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ด (Chip card) ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ดและนำมาใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์สาธารณะตามภารกิจในการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ของจำเลย บัตรโทรศัพท์จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๔/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ บริษัทเทลการ์ด จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท ทศท คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๗๔๐/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เพื่อผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ด (Chip card) จำนวน ๓๑,๔๐๐,๐๐๐ ใบ ราคาใบละ ๑๐.๑๑ บาท เป็นเงินรวม ๓๑๗,๔๕๔,๐๐๐ บาท โดยเมื่อจำเลยอนุมัติให้ผลิตบัตรโทรศัพท์ตามแบบหน้าบัตร (Artwork) ที่จำเลยเลือกไว้แล้ว โจทก์มีหน้าที่ผลิตบัตรพลาสติกที่ยังไม่ติดชิบ (Chip) เพื่อให้จำเลยตรวจรับ จากนั้นจำเลยจะฝากบัตรพลาสติกดังกล่าวไว้ในห้องมั่นคงของโจทก์ เมื่อจำเลยต้องการนำบัตรออกขาย จำเลยจะทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนัดวันเวลาและส่งบุคลากรของจำเลยมาควบคุมการติดชิบและลงรหัสข้อมูลในบัตร ซึ่งโจทก์ได้ทำการผลิตและส่งมอบบัตรโทรศัพท์ดังกล่าวให้จำเลยอย่างต่อเนื่อง แต่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่นำบัตรพลาสติกที่ฝากไว้กับโจทก์จำนวน ๒,๕๐๕,๐๐๐ ใบ ไปดำเนินการติดชิบและลงข้อมูลตามขั้นตอนการผลิต ทำให้โจทก์ไม่อาจเบิกเงินค่าจ้างได้ตามสัญญา และปัจจุบันบัตรพลาสติกดังกล่าวหมดอายุใช้งานแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าผลิตบัตรโทรศัพท์เป็นเงิน ๑๓,๗๗๗,๕๐๐ บาท ให้ชดใช้ค่าเสียหายในการจัดหาสิ่งของอุปกรณ์และช่างฝีมือที่ดีเพื่อผลิตบัตรโทรศัพท์ ค่าฝากบัตร และดอกเบี้ยเป็นเงิน ๑๘,๗๖๓,๔๔๔.๕๙ บาท คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๓๒,๕๔๐,๙๔๔.๕๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา เพราะไม่ได้สั่งให้โจทก์ผลิตบัตรพลาสติกตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์นำภาพต้นแบบซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์เดิมของจำเลย (Artwork) ไปพิมพ์ลงบนบัตรพลาสติกโดยพลการซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยแจ้งให้โจทก์ทำการแก้ไขภาพต้นแบบดังกล่าวก่อนแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน จำเลยไม่เคยตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ และไม่เคยฝากบัตรโทรศัพท์ของจำเลยไว้กับโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สัญญาจ้างผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะระหว่างโจทก์และจำเลยมีสาระสำคัญแต่เพียงให้โจทก์ผลิตบัตรพลาสติกอันเป็นการตระเตรียมวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จะนำไปส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อติดชิบและลงรหัสข้อมูลเป็นบัตรโทรศัพท์สาธารณะเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาจ้างทำของเท่านั้น มิใช่เป็นสัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญา ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองอันถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ผลิตบัตรโทรศัพท์แบบชิบการ์ด โดยบัตรโทรศัพท์ดังกล่าวใช้ได้กับเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรเท่านั้น หากไม่มีบัตรโทรศัพท์ก็ไม่สามารถใช้เครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรได้ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งคือจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้โจทก์จัดหาหรือจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สำคัญหรือจำเป็นเพื่อใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านกิจการโทรศัพท์ของจำเลยให้บรรลุผลซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง สำหรับกรณีที่สัญญาพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น เห็นว่า ลำพังเพียงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของย่อมไม่อาจถือได้เสมอไปว่าสัญญานั้นมิใช่สัญญาทางปกครอง หากสัญญาจ้างทำของเข้าองค์ประกอบตามนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาจ้างทำของนั้นย่อมเป็นสัญญาทางปกครองได้ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรรูปมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด พร้อมโครงข่ายโทรคมนาคมผ่านบริการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ อันเป็นบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ด (Chip card) ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าผลิตบัตรโทรศัพท์และให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงมีประเด็นต้อง พิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ดเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งบัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ดเพื่อนำมาใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์สาธารณะตามภารกิจในการให้บริการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ของจำเลย บัตรโทรศัพท์สาธารณะแบบชิบการ์ดจึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บรรลุผล สัญญาจ้างผลิตบัตรโทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทเทลการ์ด จำกัด โจทก์ บริษัท ทศท คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ